บอร์ด สปสช. อนุมัติเพิ่มยาจำเป็นราคาแพงเข้าชุดสิทธิประโยชน์ 30 บาท อีก 7 รายการ เผยผลการต่อรองราคายา และเวชภัณฑ์ปี 2555 ช่วยรัฐประหยัดงบได้กว่า 8 พันล้านบาท
เมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง ผลงานการบริหารยาและเวชภัณฑ์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2555
โดย นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลได้มุ่งเน้น เรื่องการดูแลสุขภาพประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค และในปัจจุบันกำลังเป็น 30 บาท รักษาทุกโรค ยุคใหม่ โดยให้ความสำคัญเรื่องการใช้ยาด้วย
กล่าวคือ รัฐบาลพยายามจัดหายาดีให้ประชาชนได้ใช้อย่างเพียงพอ แต่ต้องเป็นการใช้สิทธิได้รับยาตามที่จำเป็น และเหมาะสมกับความเจ็บป่วย ทั้งยารักษาโรคทั่วไป และยาที่มีราคาสูง ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการต่อรองราคายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นในกลุ่ม ยา 10 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มยาจำเป็นราคาแพงในบัญชียา จ (2)
2. กลุ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี
3. กลุ่มยาต้านวัณโรค
4. กลุ่มยาวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
5. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
6. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
7. ยาจิตเวช
8. ยาโคลพิโดเกรลสำหรับรักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
9. ยาดีเฟอริโพรน หรือยาขับเหล็ก
10. กลุ่มยากำพร้า
ซึ่งจากการต่อรองราคายาในปี 2555 ประหยัดงบประมาณในการจัดหายาได้ถึง 5,770 ล้านบาท เมื่อรวมกับการต่อรองราคาเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาอีก 2,400 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,170 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอของมติคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 7 กันยายน 2555 ที่ได้มีการเสนอรายการยาใหม่ที่เข้าบัญชียา จ (2) เพื่อเสนอเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในยา 7 รายการ ดังนี้
1. ยาสำหรับรักษาภาวะโรคไขกระดูกฝ่อระยะรุนแรง (severe aplitic anemia)
2. ยาสำหรับรักษาโรคเกาเซอร์ (Gaucher syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม (พบในผู้ป่วยน้อยราย แต่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก)
3. ยาต้านจุลชีพ สำหรับรักษาเชื้อดื้อยา MRSA (Methicillin- resistant Staphylococcus aureus)
4. ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการแพ้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีอยู่เดิม
5. ยามะเร็งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น
6. กลุ่มยาต้านพิษโดยเฉพาะพิษงูรวมที่มีผลต่อระบบประสาท และระบบเลือด
7. ยากำพร้า ที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเดิมไม่มีบริษัทใดนำยาเข้ามาขายในประเทศ
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการบริหารจัดการยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยาราคาแพง เช่น ยาเลทโทรโซล (letrozole) สำหรับโรคมะเร็งเต้านม, ยาโดแท็กเซล (Docetaxel) สำหรับโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมาก, ยาโบทูลินั่ม ท๊อกซิน ชนิด เอ (Botulinum toxin type A) สำหรับโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกชนิดไม่ทราบสาหตุ และยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) ใช้รักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก เป็นต้น
ซึ่งในปี 2552 มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้เข้าถึงยาเพียง 845 ราย แต่เมื่อมีการบริหารจัดการยาตั้งแต่ ปี 2553 ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
ปี 2553 มีผู้ป่วยเข้าถึงยา 3,299 ราย
ปี 2554 มีผู้ป่วยเข้าถึงยา 5,563 ราย
ปี 2555 มีผู้ป่วยเข้าถึงยา 4,874 ราย
รวมมีผู้ป่วยเข้าถึงยา 14,581 ราย
ทั้งนี้ สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศไทยพบว่า ในปี 2538 มีอัตราการเติบโตของค่ายาร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ล่าสุดในปี 2550 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45 หรือราว 1.7 แสนล้านบาท ของรายจ่ายด้านสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา ซึ่งการมีมูลค่าสูงนั้น เกิดจากการใช้ยาเกินความจำเป็น หรือการใช้ยาที่มีราคาแพง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม