จากยาแลกไข่ สู่.....นโยบายด้านยาที่ดีขึ้น

จากนโยบาย การนำยาเก่ามาแลกไข่ใหม่ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถนำยาเก่ามามากกว่า 37 ล้านเม็ดมาทำพิธีเผาทำลายยาที่ประชาชนเลิกใช้จำนวนกว่า  37 ล้านเม็ด มูลค่าไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท นั้นสะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาของประเทศที่ซ้อนเร้นอยู่ จากการขาดนโยบาย และมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ และควบคุมการบริโภคยาของประชาชน เช่น การรับยา และเวชภัณฑ์ที่ขาดการรวมจ่ายที่ เพื่อจูงใจในการใช้ยาอย่างเหมาะสม  

ขาดการการควบคุมร้านขายยาทให้มีคุณภาพ ที่ควรต้องจ่ายยาโดยเภสัชกร   ระบบบริการที่ซ้ำซ้อน ไม่ผสมผสาน จนเกิดการบริการที่แออัด ไม่มีเวลาเพียงพอในการอธิบายการใช้ยาแก่ผู้ป่วยและญาติในโรงพยาบาลระดับต่างๆ  สาเหตุเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขที่สาเหตุอย่างจริงจัง และเชื่อมโยง หาใช่เพียงแค่มีโครงการยาเก่าแลกไข่ใหม่ที่เป็นสีสัน หวูบไหวกับจำนวนเม็ดยาที่แลกมาได้เท่านั้น

 

จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

  1. การพัฒนาศักยภาพของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบล (รพสต) หรือสถานีอนามัยทั้งด้านอัตรากำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ และการร่วมบริการจัดการกับชุมชน ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้มีเวลามากเพียงพอในการอธิบายการใช้ยาที่ถูกต้อง เหมาะสม หรือใช้การให้คำปรึกษา เพื่อทดแทน และลดการใช้ยา
  2. การพัฒนาด้านสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยาภายในโรงพยาบาล และระหว่างโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัย และประหยัดค่าใช่จ่ายด้านยา  เช่นข้อมูลการใช้ยาจากรพ.จังหวัดกับ โรงพยาบาลชุมชน  การส่งเสริมให้ประชาชนนำยามาที่โรงพยาบาลทุกครั้งทั้งจาก รพ.ที่มา , รพ.อื่นๆ  หรือแม้แต่ยาที่ได้มาจากแหล่งอื่นๆ  เป็นต้น
  3. การเชื่อมโยงการร่วมจ่ายของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ากับ นโยบายควบคุมการใช้ยา อาทิเช่น การร่วมจ่ายตามจำนวนรายการยาที่สั่ง เหมือนในประเทศอังกฤษ   สำหรับรายที่มีฐานะยากจน ควรจัดมีการอนุเคราะห์ หรือช่วยจ่ายจากกองทุนของท้องถิ่น หรือชุมชน เป็นต้น
  4. การควบคุมการจำหน่ายยาให้มีความปลอดภัย มีมาตรการทางกฏหมายที่จริงจังมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ ความตระหนักด้วยสื่อสาธาณะที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น  แทนการตรวจจับเป็นฤดูกาล ตามระบบราชการเดิมๆเท่านั้น  ต่อยอดด้วยยุทธศาสตร์ด้านกำลังคนในการกระจายร้านยาที่มีคุณภาพไปสู่ชุมชนต่างๆอย่างทั่วถึง เพื่อให้มีระบบยาในชุมชนที่ปลอดภัย จนสามารถทัดเทียมอารยะประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต   และการปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตยาให้มีรูปแบบยาที่เป็นมาตรฐาน สะดวกต่อการระบุชนิดของยามากขึ้น แทนการผลิตรูปแบบยาที่หลากหลายเพียงเพื่อเหตุผลทางการตลาด และมุ่งแสวงหาผลกำไรของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น
  5. การส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และจิตสาธารณะให้สมดุลกับค่านิยมแบบทุนนิยม  การนำยามาคืน แบบสมัครใจ เพื่อเป็นการทำความดี ทำบุญ สามารถนำยามาหมุนเวียนให้ผู้อื่นได้นำไปใช้ ช่วยลดรายจ่าย เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม

ดังนั้นโครงการยาเก่าแลกไข่ใหม่ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น  ควรมีกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เป็นรูปธรรม จริงจัง ต่อเนื่องด้านยา เวชภัณฑ์ เพื่อการแก้ไขที่สาเหตุอย่างบูรณาการ เพื่อสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้นต่อไป

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน