อย.อนุมัติยาลดนน.ตัวใหม่ในรอบ13ปี

อย.สหรัฐ หรือ เอฟดีเอ อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายยาลดนน.ตัวใหม่ครั้งแรกในรอบ 13 ปี เพื่อหวังเป็นทางเลือกลดจำนวนคนอ้วนที่พุ่งสูงขึ้นรวดเร็ว แต่ได้กำหนดมาตรฐานยาสูงขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายจากการใช้ 29 มิ.ย. 55  แถลงการณ์ของเอฟดีเอ ระบุว่า ยา ยี่ห้อ เบลวิก ซึ่งมีชื่อสามัญทางยาว่า ลอร์คาเซริน  ไฮโดรคลอไรด์ ผลิตโดยบริษัท อารีน่า ฟามาซูติคัล ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายได้แล้วก่อนหน้านี้ยาชนิดนี้ ไม่ผ่านการอนุมัติเมื่อปี 2553 เพราะพบว่าอาจก่อให้เกิดเนื้อร้ายระหว่างทำการทดลองในสัตว์ แต่บริษัทได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในการยื่นขออนุญาตครั้งใหม่ พบว่า มีความเสี่ยงการเกิดเนื้อร้ายในคนลดลงจากครั้งก่อน และจากการทดลองใช้ยาในคน พบว่า ช่วยให้ลดน้ำหนักได้เฉลี่ยเกือบ 5% ของน้ำหนักตัว

ยาชนิดนี้จะช่วยปิดกั้นสัญญาณของอาการอยากอาหารในสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มและอยากรับประทานอาหารน้อยลง และเอฟดีเออนุญาตให้ใช้ยาได้เฉพาะในผู้ใหญ่ที่มีภาวะโรคอ้วน ที่มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 30 หรือมากกว่า หรือใช้ได้ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ที่มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 27 หรือมากกว่า หากพวกเขามีอาการ เช่น ความดันเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และคลอเลสเตอรอลสูง

แต่ยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่ให้นมบุตร และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกินกว่า 12 สัปดาห์หากไม่สามารถลดน้ำหนักได้ 5% ของน้ำหนักตัว และบริษัทอารีน่ายังจำเป็นต้องทำการทดลองศึกษาอีก 6 ครั้งหลังการจำหน่ายยา เช่น การศึกษาว่ายาทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดในสมองในระยะยาวหรือไม่  คาดว่ายาจะวางจำหน่ายได้ในปีหน้า

เอฟดีเอได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น หลังยาลดน้ำหนักตัวหนึ่งเคยถูกเรียกคืนจากตลาดเมื่อปี 2550 เพราะมีผลข้างเคียงต่อลิ้นหัวใจ ขณะที่เบลวิกไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าว แต่ก็ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ไมเกรน และความจำเสื่อมได้

การอนุมัติยาลดน้ำหนักครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากแพทย์จำนวนมาก เพราะจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนและผู้มีน้ำหนักตัวเกินในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่าง รวดเร็ว เชื่อว่ามีมากถึงเกือบสองในสามของประชากรทั้งประเทศ และเฉพาะผู้ป่วยโรคอ้วนมีมากถึง 35% ในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าการอนุมัติยาเบลวิกอาจทำให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตยารายใหญ่ใน การผลิตยาลดน้ำหนักในอนาคต

ข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก 29/06/55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน