แวดวงเภสัช-หมอขยับ สรุปบทเรียนจาก ‘ยาซูโด’ สู่ การยกเครื่องระบบยา

ยาซูโดอีเฟดรีน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ซูโด” กลายเป็นประเด็นร้อนและร้อนขึ้นเรื่อยๆ สะเทือนแวดวงเภสัชกรและแพทย์จนเจ้าของประเด็นต้องลุกมาทำความเข้าใจภาพย่อยของยาซูโดฯ และภาพรวมของเรื่องทั้งหมดเพื่อหาทางออกร่วมกัน  ผ่านการจัดประชุมเรื่อง “การพัฒนาระบบยา จากบทเรียนยาซูโดฯ”


 

งานนี้จัดโดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย(วคบท.)ชมรมเภสัชชนบท

ยาซูโดฯ เป็นยาสูตรผสม (ผสมตัวยาหลายชนิด) ที่ใช้ในการบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มันถูกขึ้นบัญชีเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทสองเมื่อวันที่ 4 เม.ย.55 ซึ่งอนุญาตให้จำหน่ายเพียงในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากซูโดฯ ถูกนำไปเป็นสารตั้งต้นของยาเอมเฟตามีน หรือ “ยาบ้า” ที่สำคัญคือการปรากฏข่าวคราวการสั่งซื้อยาซูโดฯ จำนวนมากและการสูญหายไปจากโรงพยาบาลในหลายจังหวัด

แม้ว่าคนในแวดวงสาธารณสุขหลายคนยังไม่แน่ใจว่ามหากาพย์ซูโดฯ นี้เป็นข่าวใหญ่โตเกินเหตุเพราะ “การเมือง” ในช่วงโยกย้ายถ่ายโอนอำนาจหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีนี้สะท้อนปัญหาระบบยาทั้งระบบที่คนในวงการก็ยอมรับว่า ควรต้องทบทวนและควรถือโอกาสปัดกวาดกันใหม่ เป็น “ซูโดภิวัตน์” ดังที่นพ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาฯ เปรียบเปรยอย่างอารมรณ์ดีไว้

งานประชุมเริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมของปัญหาโดย ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการ คคส. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยวที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ถูกควบคุมเป็นอย่างดีตลอดกระบวนการโดย อย. ขณะที่ยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสมนั้นไม่ถูกควบคุมมากเท่าสูตรเดี่ยว มีผู้ผลิตถึง 65 บริษัท และมีสูตรถึง 241 ตำรับ ซูโดฯ สูตรผสมกระจายอยู่ตามร้านขายยามากที่สุดราว 70% ที่เหลืออยู่ตามโรงพยาบาลรัฐและเอกชน แต่เมื่อยกระดับประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทสองที่ขายได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาต ทำให้ อย.ต้องประกาศให้ร้านขายยาหรือ รพ.ที่ไม่ประสงค์รับอนุญาตส่งคืนยา ซึ่งถึงขณะนี้คาดว่ายังค้างอยู่ในระบบในหลักสิบล้านเม็ด โดย อย.ให้เวลานำส่งคืนภายใน 30 วัน (นับจาก 4 เม.ย.) และสามารถเรียกคืนมาได้เพียง 700,000 เม็ดในสัปดาห์แรก

อาจารย์วรรณายังชี้ถึงปัญหาเชิงระบบของยาซูโดฯ ด้วยว่า นอกจากยาซูโดฯ สูตรผสมจะควบคุมได้ยากแล้ว ยังมีปัญหาการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ซึ่งกว่า 75% มาจากประเทศเกาหลีใต้ ปัญหาการนำเข้าผิดกฎหมายเป็นปัญหาใหญ่และมีสัดส่วนสูงยิ่งกว่าปัญหายาภายในประเทศ ดูจากสถิติคดีตั้งแต่ปี 51-55 จำนวน 40 คดี จะพบว่ายึดของกลางได้กว่า 48 ล้านเม็ด เป็นยาที่ผลิตในไทยเพียง 8 ล้านเม็ด

ที่สำคัญ กฎหมายของไทยที่มีอยู่ยังไล่ตามการ “นำผ่าน” หรือการซื้อยาจากต่างประเทศ ผ่านไทย ไปสู่ประเทศอื่นๆ ไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการนำผ่านและส่งออก มีเพียงการควบคุมการผลิต ขาย นำเข้าเท่านั้น ขณะที่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ก็มีบทลงโทษผู้กระทำผิดได้เพียงตัดโควตา ไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ และไม่มีบทบัญญัติการเรียกคืนยา ทำได้เพียงประกาศให้ผู้ไม่ประสงค์จะรับอนุญาตส่งคืนกับบริษัทผู้ผลิต ดังนั้น จึงควรเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ของภาคประชาชน และของ อย. ซึ่งตอนนี้ทั้งร่างทั้ง 2 ฉบับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะที่ร่างพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ที่ตกไป รัฐบาลก็ควรนำมาพิจารณาใหม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างส่วนอื่นๆ ที่สำคัญอีก เช่น ความบกพร่องในการบริหารเวชภัณฑ์ ซึ่งดูจากตัวอย่างโรงพยาบาลที่มีปัญหายาซูโดสูญหายแห่งหนึ่งพบว่า การจัดซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนมิได้ดำเนินการตามแผนจัดซื้อของโรงพยาบาล ขาดการควบคุมการเบิกจ่ายยาในคลังย่อย ไม่มีระบบการตรวจสอบการรับยาที่เบิกจ่าย

ขณะที่เภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ หัวหน้าฝ่ายเภสัชสาธารณสุข จังหวัดลำพูน ขยายความถึงข้อบกพร่องในการบริหารเวชภัณฑ์ว่า แม้ว่าจะมี “การออกแบบระบบ” การบริหารเวชภัณฑ์ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็มีการละเลยจากบุคลากรภายในเอง กระทั่งข้อบกพร่องหลายอย่างเกิดมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว เช่น การสั่งยาในนามโรงพยาบาลเข้าคลินิกส่วนตัวของแพทย์เพราะจะได้ราคาถูกกว่า คณะกรรมการที่มีหน้าที่วางนโยบาย อนุมัติกรอบรายการยาทั้งในระดับจังหวัดและโรงพยาบาลไม่ทำหน้าที่ รวมไปถึงปัญหาการจัดซื้อที่มีการซอยใบสั่งซื้อ บันทึกการขออนุมัติภายหลัง การมีคำสั่งซื้อลอย

“วันหนึ่งหมดจากเรื่องซูโดไปแล้ว แล้วมาแตะที่ระบบเวชภัณฑ์ว่ามันรั่วไหล จะเห็นจุดอ่อนเยอะแยะไปหมด แล้ววันนั้นเราจะขาดความน่าเชื่อถือไปเลย” เภสัชกรจิระเตือน

ในช่วงท้ายการสัมมนา ตัวแทนจากร้านขายยา เภสัชกรหญิงช้องนาง นิติศฤงคาริน ประธานสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นต่อมาตรการคืนยาภายใน 30 วันว่าเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับร้านขายยาเพราะกระชั้นชิดเกินไปและไม่มีการส่งสัญญาณให้ปรับตัวอย่างเพียงพอ ขณะที่ระบบการส่งคืนบริษัทผู้ผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ประกอบกับมีวันหยุดสงกรานต์ยาวนาน หากร้านใดจะไม่ส่งคืนก็ต้องทำลาย จะเอาไปทิ้งขยะก็จะเป็นประเด็นอีกและตามไม่ได้ว่ามาจากไหน มาตรการเช่นนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระบบ  นอกจากนี้กรณีของซูโดไม่ควรทำให้ร้านขายยาเป็นผู้ร้ายแต่ควรหาหนทางว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ร้านขายยาซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในระบบได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วย

อย่างไรก็ตาม เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า อย.ได้ทำหนังสือแจ้งต่อร้านขายยาให้ระงับการขายยาเหล่านี้หลายครั้งแล้ว และเคยพูดในเวทีเสวนาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าซูโดฯ สูตรผสมกำลังจะถูกยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทสอง นอกจากนี้เขายังเพิ่มเติมข้อมูลในด้านการประสานกับหน่วยงานควบคุมเรื่องอาหารและยาของต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งมีการนำเข้าซูโดฯ มาในไทยเยอะมากว่าเป็นไปอย่างใกล้ชิด และพยายามผลักดันให้เกาหลีใช้ระบบแจ้งการส่งออกยาไปยังประเทศปลายทางล่วงหน้าเหมือนระบบสากล เพื่อให้มีการตรวจสอบที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น

นั่นเป็นเรื่องของ “ระบบ” การบริหารจัดการยา ซึ่งเป็นวงจรขนาดใหญ่ตั้งแต่การคัดเลือก  การผลิต การกระจาย และการใช้ แต่สำหรับความเห็นของแพทย์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสั่งยานี้ให้กับคนไข้ ซึ่งพากันกังวลกับกระแส “กลัวไม่มียาแก้หวัดกิน” บรรดาแพทย์กลับมองต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล จากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ฟันธงว่า เป็นหวัด หายได้เอง ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องหาหมอ เนื่องจากยาที่จะได้รับทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่มีประสิทธิพลในการบรรเทาอาการ ผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า ยาซูโดฯ ประสิทธิผลต่ำ แต่ยา Phenylephrine ที่กระทรวงสาธารณสุขจะให้นำมาใช้เป็นยาทดแทนยิ่งประสิทธิผลต่ำกว่า หรือที่จริงควรเรียกว่า “ไม่มีประสิทธิผลเลย” โดยเฉพาะในเด็กยาสูตรผสมสำหรับบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกนั้นถูก “ยกเลิก” ไปแล้วในหลายประเทศ เนื่องจากประสิทธิผลต่ำและมีผลข้างเคียงสูงอาจถึงชีวิต

“ยาผสมที่ผสมหลายตัวแก้ไอ ขับเสมหะ คัดจมูก ในต่างประเทศเขาไม่ให้เด็กของเขาใช้แล้วและอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย สังคมต้องคุยกันว่ายาเหล่านี้ไม่ควรให้ซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา” นพ.พิสนธิ์กล่าวและว่าการไปหาหมอด้วยโรคหวัดก็ทำให้โรงพยาบาลแน่นโดยใช่เหตุ เพราะก็จะได้ยาเหล่านี้กลับมา ที่สำคัญ คนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบบรรเทาอาหารทั้งที่มันไม่ช่วยและไม่เกี่ยวข้องกับโรคแต่อย่างใด รังแต่จะทำให้เกิดการดื้อยา  ดังนั้น แม้ซูโดฯ สูตรผสมจะเข้าถึงยากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องต้องกังวล

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีก็สรุปคล้ายกับว่า การแบนยาซูโดฯ อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสำหรับสกัดกั้นสารตั้งต้นผลิตยาบ้า ผศ.ดร.ชำนาญ ภัตรพานิช จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ระบุถึงการสังเคราะห์ทางเคมีของยาซูโดฯ ไปสู่เอมเฟตามีนว่าทำได้หลายวิธีมากกว่าที่ อย.เฝ้าระวัง และยังมีสารเคมีในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความสามารถเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตแอมเฟตามีนได้อีกหลายชนิด หรือแม้แต่ยาทดแทน Phenylenphrine ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตจะสามารถสังเคราะห์เป็นแอมเฟตามีนในต้นทุนที่ต่ำลงได้หรือไม่

สำหรับบทสรุปก็คงเป็นดังที่ ผศ.พญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย.สรุปไว้ว่า

"การบริหารเวชาภัณฑ์คงต้องมีการรื้อระบบ การติดตาม การจัดหา ยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งปรับปรุง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล มีความความโปร่งใส , accountability , การตรวจสอบการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจน code of conduct ขณะเดียวกัน ยากลุ่มเสี่ยงยังมีอีกเยอะ ซูโดฯ เป็นแค่ยอดน้ำแข็ง ยังมีอย่างอื่นๆ เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันในการจัดหาและกระจาย ซึ่งเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าด้วย"

 ข้อมูลจาก ประชาไท 24/4/55

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน