กระตุกสำนึกกรมทรัพย์สินฯ 'เร่งออกคู่มือ ขจัด evergreening สกัดทางหากิน พวกแร้งทึ้งผู้ป่วย'‏

เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการเข้าถึงยา มอบ คู่มือฯ สกัดคำขอ Evergreening ขนาดมหึมา กระตุกสำนึกกรมทรัพย์สินฯ 'เร่งออกคู่มือ ขจัด evergreening สกัดทางหากิน พวกแร้งทึ้งผู้ป่วย'‏

(24 เม.ย.55 กรุงเทพฯ) เมื่อเวลา 13.30 น. เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการเข้าถึงยา (อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, ชมรมผู้ป่วยโรคไต, เครือข่ายผู้บริโภค, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ) มีนัดหารือกับนางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อวางกรอบและหลักเกณฑ์คู่มือการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยา เพื่อป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening Patent) ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2553 แต่ยังไม่คืบหน้า เพราะบริษัทยาข้ามชาติพยายามขัดขวางการทำคู่มือฯดังกล่าว เพราะเกรงว่า คำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ และไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นจริงจะไม่ได้รับสิทธิบัตร

 

ก่อนการหารือ นายอนันต์ เมืองมูลไชย รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เป็นตัวแทนมอบคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งประดิษฐ์ทางยา ขนาดสูง 1.78 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ให้แก่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และติดตั้งถาวรที่กรมฯเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนามาตรฐานการตรวจสอบสิทธิบัตรให้มีคุณภาพเพื่อรักษาสมดุลย์ระหว่างการ รักษาประโยชน์ให้เจ้าของสิทธิและการพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ โดย คู่มือฯ สกัดคำขอ Evergreening ขนาดยักษ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือขนาดใหญ่ โดยมีปกหลังเขียนว่า ‘เร่งออกคู่มือฯ ขจัด Evergreening สกัดทางหากิน แร้งทึ้งผู้ป่วย’

 

"อุปสรรคชิ้นใหญ่ ของการเข้าไม่ถึงยารักษา และกรรมการยาแห่งชาติไม่บรรจุยานั้นเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ อีกทั้งทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถจ่ายยานั้นๆให้กับประชาชนได้ คือราคายาที่สูงอย่างไม่สมเหตุสมผล การกำหนดราคาที่ไม่เคยชี้แจง โครงสร้างราคา ของบริษัทยา และที่สำคัญที่ทำให้บริษัทยา มีพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรม ไม่มีคุณธรรม คือการผูกขาดการค้า การใช้สิทธิบัตรที่ได้มาง่ายๆ ได้ไม่รู้จบ จากการยื่นขอสิทธิบัตรได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแค่ปรับสูตรของตัวยาเล็กน้อย เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะหยุดวงจรสูบเลือด สูบเนื้อ เอาเปรียบผู้ป่วย เอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศได้ ประเทศของเราต้องมี "คู่มือฉบับนี้" เพื่อกำหนดกติกา หลักเกณฑ์ ที่รัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯกล่าว

 

คู่มือดังกล่าวพัฒนามาจากงานวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ทางยา ในระหว่าง ปี พ.ศ.             2543-2553       จำนวน 2,034 ฉบับ พบว่า มีคำขอรับสิทธิบัตร ร้อยละ 96 ที่มีลักษณะอยู่ในเงื่อนไขที่เป็น evergreening patent โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือ คำขอรับสิทธิบัตร ‘ข้อบ่งใช้/การใช้’ ร้อยละ 73.7 สูตรตำรับและส่วนประกอบ ร้อยละ 36.4 และ Markush Claim ร้อยละ 34.7 ซึ่งทางสถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อนำเสนอผลการ วิจัยในฐานะที่เป็นองค์กรร่วมสนับสนุนการวิจัย และมีข้อเสนอแนะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรจะพิจารณาคู่มือที่คณะผู้วิจัย พัฒนาขึ้นนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งกรมฯกำลัง ดำเนินการพัฒนาระบบอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

 

“ประเด็นเร่งด่วนที่กรมทรัพย์สินฯเร่งขจัดข้อถือสิทธิใน สูตรตำรับใหม่ และองค์ประกอบใหม่ของสารเคมีเดิมที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว รวมถึงกรรมวิธีการเตรียมสูตรตำรับดังกล่าว, หากตัวยาสำคัญของตำรับดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ตำรับยาสูตรผสมนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร, ขนาดการใช้ยาใหม่ของสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เปิดเผยอยู่แล้วสำหรับข้อบ่งใช้เดิมหรือข้อบ่งใช้ใหม่ ไม่ถือว่ามีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร, วิธีการรักษา บำบัด รวมถึงการวินิจฉัย ที่ใช้กับมนุษย์หรือสัตว์ ก็ไม่ได้รับสิทธิบัตรตามมาตรา 9 (4) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทย และ ข้อถือสิทธิการใช้ยารวมถึงข้อบ่งใช้ที่ 2 ไม่ให้รับสิทธิบัตรตามมาตรา 9 (4) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทย ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 1/2553 ลงวันที่ 26 มกราคม 2553”

 

เมื่อไม่นานมานี้ เคยมีรายงานข่าวระบุว่า บ.ติลลิกีแอนด์ กิบบิน ยื่นหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ทบทวนคำสั่งปฏิเสธข้อถือสิทธิการใช้ ยาเพื่อเตรียมเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ได้มีการปฏิเสธก่อนหน้านี้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานของคณะกรรมการสิทธิบัตร ปรากฏว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแทนที่จะส่งให้คณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณา กลับส่งให้ ‘คณะอนุกรรมการสิทธิบัตร สาขาเคมี’ ซึ่งมีประธานซึ่งมีผู้ใกล้ชิดทำงานให้กับบริษัทยาข้ามชาติชี้ขาดว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรไม่เป็นบรรทัดฐาน

 

ในประเด็นนี้ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังให้นักกฎหมายพิจารณาว่า อาจมีความจำเป็นที่ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะอนุกรรมการสิทธิบัตรสาขาเคมี

 

“จน ถึงขณะนี้ ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งเราได้เรียกร้องความโปร่งใสและ ต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามา เป็นกรรมการดังเช่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมร่วมกับทีมวิชาการและนักกฎหมาย กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ และคำวินิจฉัยสิทธิบัตร เรากำลังพิจารณาเลือกใช้การฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรที่ได้อย่างไม่ชอบธรรมเพื่อ ให้เกิดบรรทัดฐานที่ดีของสังคม เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีมาตรฐานและเป็นธรรมการผู้บริโภค เท่าๆกับที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน