นักวิชาการด้านยา พร้อมชี้แจงประโยชน์ของร่าง พรบ.ยา ฉบับประชาชน ต่อ กมธ.สาธารณสุขพฤหัสนี้ เผย บริษัทไม่ยอมเปิดเผยโครงสร้างราคายา ผวาถูกบังคับให้แฉมูลค่าการส่งเสริมการขายยา
(2 เม.ย./กรุงเทพฯ) ตามที่มีรายงานข่าวมาเป็นระยะว่า อุตสาหกรรมยาข้ามชาติพยายามเข้าไปล็อบบี้ในหลายส่วนของรัฐสภาเพื่อขัดขวางร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน) ไม่ให้ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาฯ นั้น ล่าสุดในวันพฤหัสบดีที่ 5 เม.ย.นี้ เวลา 9.30 น. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาฯจะได้เรียกผู้เกี่ยวข้องไปให้ความเห็น โดยเน้นประเด็นความไม่พอใจที่ทางสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) หยิบยกขึ้นมา คือ การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายยา และ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทยาต้องแจ้งข้อมูลโครงสร้างราคายา ที่มีสาระปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ยาของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และของภาคประชาชน
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ในวันพฤหัสนี้พร้อมที่จะไปชี้แจงต่อ กมธ.สาธารณสุขในฐานะผู้เสนอกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ยาฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน พ.ศ.2510 เป็นกฎหมายสาธารณสุขฉบับหนึ่งที่มีการใช้มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี มีการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กๆน้อยๆ 4 ครั้งเท่านั้น ทำให้บทบัญญัติหลายส่วนไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ด้านยา การพัฒนาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำหนดมาตรฐานสากล การขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยา อันจะส่งผลให้การคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
“กพย. ได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการ นักวิชาชีพ เครือข่ายผู้ป่วย และเครือข่ายผู้บริโภคปรับปรุงกฎหมายให้ทันสถานการณ์ สอดคล้องกับสากล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะคุ้มครองผู้บริโภค หากมีประเด็นไหนที่ฝ่ายใดรู้สึกไม่เข้าใจหรือมีข้อวิพากษ์ก็ควรหารือเพื่อนำ ไปสู่การพัฒนาร่วมกันตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งการที่ กมธ.สาธารณสุขเชิญทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นโอกาสที่ได้อธิบายให้เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างราคายา ซึ่งเดิมการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่ต้องมีการคำนวณแยกต้นทุนราคายา แต่ในร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ระบุว่า ให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย ต้องแสดงราคายา วัตถุประสงค์ เพื่อให้ทราบต้นทุนและกำไรของยาชนิดนั้นๆ เพราะที่ผ่านมามีการอ้างว่าต้นทุนราคายาสูงเนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการ วิจัยสูง แต่ความจริงแล้วยาบางประเภทต้นทุนอยู่ที่ค่าโฆษณาและค่าการส่งเสริมการขายยา เป็นส่วนใหญ่ ส่วน ประเด็นการควบคุมการส่งเสริมการขายยานี้ก็เป็นที่ปฏิบัติในระดับสากล เนื่องจากพบว่าบริษัทยามีการใช้งบประมาณในการส่งเสริมการขายยารูปแบบต่าง ๆ ใช้งบจำนวนหนึ่ง สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับแพทย์ ดังนั้น บริษัทยาจำเป็นต้องแจกแจงรายละเอียดว่าใช้เงินกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแพทย์อย่างไร เพื่ออะไร เช่น การให้ของขวัญ พาท่องเที่ยวต่างประเทศ เชิญประชุมวิชาการ เป็นต้น เพราะสุดท้ายภาระตกที่งบประมาณของประเทศและประชาชนที่อาจจะถูกจูงใจให้ใช้ยาเกินจำเป็น”
ทางด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์กล่าวว่า “ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชนนั้น ได้มีการทำงานวิชาการและรับฟังความคิดเห็นมาอย่างถ้วนถี่ สอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติด้านยา และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ประกาศ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาว่า หลังจากทำเรื่อง เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวแล้ว จะลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น
“เราทราบดีว่า ตอนนี้บริษัทยาพยายามรุกอย่างหนักเพื่อคัดค้านเรื่องนี้ทั้งในทางลับและทางแจ้ง แต่ประชาชนก็เฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างแข็งขันเช่นกัน เพราะนี่เป็นเรื่องชีวิต ความเป็นความตาย ร่าง พ.ร.บ.นี้มีประโยชน์เพื่อทำให้มีการเปิดเผยโครงสร้างราคายาอย่างแท้จริง และไปขจัดการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรมที่อุตสาหกรรมยาจำนวนหนึ่งปฏิบัติอย่างชาชิน เราขอชื่นชมกมธ.สาธารณสุขที่เปิดรับฟังความเห็นเรื่องนี้อย่างเปิดเผย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะถูกล็อบบี้ในทางลับให้ขัดขวาง พรบ.นี้หลายครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งเราอยากให้กำลังใจ กมธ.สาธารณสุขของทั้งสองสภาให้ปลอดอิทธิพลบริษัทยาและ เป็นที่พึ่งของประชาชน
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ ของ ร่าง พรบ.ยา ฉบับประชาชน ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1) คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับ เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และ 2) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและในภาวะคับขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ด้านยาและสุขภาพ
ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ประชาชน จะได้รับจาก ร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ...ฉบับประชาชน ได้แก่ 1) การมีกลไกที่จะทำให้ราคายาเป็นธรรมต่อประชาชน ป้องกันการค้ากำไรเกินควร 2) กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อสามัญทางยา ของยาที่ตนเองใช้ 3) คุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการด้านยาจากเภสัชกรอย่างแท้จริง ไม่ให้ผู้ไม่รู้มาสร้างความเสี่ยงกับประชาชนอีกต่อไป 4) กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว 5) มีกลไกจัดหายาจำเป็น เช่น ยากำพร้า ที่ไม่มีเอกชนสนใจทำการตลาด รวมทั้งการจัดหายาในภาวะวิกฤต ภัยพิบัติ 6) ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง 7) มีกลไกในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม 8) การใช้มาตรการทางปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาวะการณ์ที่หลากหลาย