3 หน่วยงานยูเอ็น หนุนใช้ซีแอลลดราคายาต้านไวรัส เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา

(เจนีวา, กรุงเทพฯ/ 16 มี.ค.54) 3 หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกเอกสารสรุปเชิงนโยบาย (policy brief) สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยูเอ็นใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์ เช่น ที่ไทย อินเดีย บราซิลใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน

 

องค์การอนามัยโลก (WHO), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ร่วมกันออกเอกสารสรุปเชิงนโยบาย (policy brief) ความยาว12 หน้านี้ ภายใต้ชื่อ “การใช้มาตรการยืดหยุ่นภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพัฒนาการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี” ซึ่งออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆพัฒนาการเข้าถึงการรักษาเอชไอวีด้วยการใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์ อาทิ การประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) เช่นที่ไทย และบราซิลได้ดำเนินการไปแล้ว และการกำหนดความชัดเจนของการให้สิทธิบัตรเพื่อขจัดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย หรือ ever-greening patent เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของอินเดีย เพื่อลดราคายาและเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน

 

ในเอกสารร่วมของ 3 หน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า แม้การใช้มาตรการยืดหยุ่นฯ นี้ ได้ถูกประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเหล่านี้กดดันอย่างหนักเพื่อให้ยกเลิก โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทยและบราซิล แต่หน่วยงานยูเอ็นทั้งสามนี้เห็นว่า การบังคับใช้สิทธิดังกล่าวเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ประกาศไว้ในหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ทั้งนี้ในเอกสารยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีที่บังคับให้ประเทศต่างๆต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงกว่าข้อตกลงทริปส์ว่าจะส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขของประเทศ

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานของสหประชาชาติด้านการพัฒนาและสาธารณสุขเข้าใจและสนับสนุนการใช้ข้อตกลงความยืดหยุ่นของทริปส์

 

“เราเชื่อว่าการเข้าถึงการรักษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราจึงศึกษามาตรการต่างๆที่กฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศจะเอื้ออำนวยเพื่อให้เราสามารถเพิ่มการเข้าถึงยา, เข้าถึงการรักษาได้ แม้ที่ผ่านมาจะต้องผจญกับแรงกดดันของอุตสาหกรรมยา และประเทศมหาอำนาจบ้าง แต่เมื่อได้รับแรงสนับสนุนเช่นนี้ก็น่าดีใจ และเห็นด้วยที่จะขยายและให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึงยาได้ใช้หนทางนี้ในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้กำลังมีการวิจัยเพื่อนำไปสู่การจัดทำคู่มือการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อขจัดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย หรือ ever-greening patent เพื่อลดราคายาผูกขาดซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข”

 

ทางด้านนางมิเชล ไชลด์ (Michelle Childs) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย องค์การหมอไร้พรมแดนสากล กล่าวว่า นี่จะเป็นก้าวย่างที่ดีมากๆ เพราะรายงานนี้จะส่งสัญญาณที่สำคัญว่า หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี ยอมรับและให้ความสำคัญว่า การสร้างความยั่งยืนในการจัดหาการรักษาให้กับผู้ติดเชื้อฯนั้นจำเป็นต้องใช้มาตรการยืดหยุ่นของทริปส์ และยังช่วยกระจายความรู้เหล่านี้ให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติที่ต้องการแก้ปัญหาในประเทศตัวเองได้ปฏิบัติตาม

 

เอกสารฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่

http://www.ip-watch.org/weblog/wp-content/uploads/2011/03/UNDP-UNAIDS-WHO-PolicyBrief-TRIPS.pdf

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน