สภาเภสัชฯ รณรงค์ลดยาเหลือใช้ ลดปัญหาสุขภาพ-ค่าใช้จ่ายของชาติ ชี้ 54 ชุมชน กทม.พบผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันใช้ยาเหลือ 4 เท่า ระบุ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ยาไม่ตรงคำสั่งแพทย์
วันนี้ (9 มิ.ย.) รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จากที่สังคมไทยต้องแบกรับภาระค่าใชจ่ายในด้านยาสูงขึ้นนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหายาเหลือ ใช้ยาไม่หมด เพราะหยุดใช้ยาเนื่องจากอาการป่วยดีขึ้น หรือบางครั้งผู้ป่วยปรับลดขนาดยาที่ใช้เอง โดยเภสัชกรไม่ได้สั่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้เสียค่ายาเกินความจำเป็นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยอีกด้วย ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการไม่เข้าใจของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้สื่อสารกับคนไข้ให้เข้าใจ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการรณรงค์ลดยาเหลือใช้ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของคนไทย และประหยัดงบประมาณของชาติด้วย โดยเน้นการรณรงค์ในช่วงสัปดาห์เภสัชกรรม ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค.นี้
“เพื่อป้องกันปัญหายาเหลือใช้ อยากแนะนำผู้ป่วยให้ทำตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งเรื่องของปริมาณ วันเวลา ในการใช้ยา โดยลองสังเกตวันหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรโดยตรง สำหรับผู้ซื้อยากินเองก็ควรสอบถามเภสัชกรให้เข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยา” ภญ.ธิดา กล่าว
ด้าน ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ เภสัชกรประจำสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ผู้ ป่วยในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 54 ชุมชน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองตีบ โดยทีมเภสัชกรที่ลงพื้นที่ พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานและความดันมียาเหลือใช้สูงถึง 3-4 เท่าของยาที่ควรมี ซึ่งกว่า 90% มีพฤติกรรมการใช้ยาไม่ตรงตามคำสั่งแพทย์ เช่น หยุดยาก่อนหายป่วย การไม่เข้าใจวิธีการใช้ยาที่ได้รับ ส่วน 25% ใช้ยาไม่สม่ำเสมอ
“ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุนั้น มีความเข้าใจเรื่องยาน้อยมาก และหลายรายมักมองว่าการใช้ยาที่ดีต้องกินจำนวนหลายชนิด เพื่อให้หายป่วยโดยเร็ว หรือบางรายมักไม่เข้าใจในเรื่องของยาที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ เช่น การพ่น การฉีด จึงมักรับยาตามความเข้าใจของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ถูกต้อง” ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว
ขณะที่ ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง คือ 5-7 วัน นับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดื้อยา คือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการ และรับยาเข้าไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผลที่ตามมา คือ การเลิกใช้ยาและเมื่อถึงมีอาการป่วยซ้ำแล้วเข้าพบแพทย์ ก็จะได้รับยาใหม่ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเหลือใช้ที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ รุนแรงที่สุด คือ ทำให้เกิดภาวะไตวาย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มิถุนายน 2553 15:13 น.