มูลนิธิเข้าถึงเอดส์เสนอรัฐขยายซีแอลยาต้านเอดส์

กรุงเทพฯ 30 พ.ย.- มูลนิธิเข้าถึงเอดส์เสนอรัฐขยายเวลาทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์ที่จะหมดซีแอลยา ในปี 2554 เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาราคาถูก เข้าถึงยาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 300,000 คนยังไม่ได้รับการรักษาในระบบ

ในการเสวนาหัวข้อ “เข้าถึงยาเข้าถึงสิทธิพิชิตเอดส์” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม จัดโดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย นายนิมิตร์ เทียนอุดม จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงปัญหาของการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้ออีกประมาณ 330,000 คน ที่ยังไม่ได้รับการรักษาในระบบ เนื่องจากยังมีความเชื่อว่าเอดส์เป็นแล้วตาย ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วย 170,000 คนที่ได้รับการรักษาในระบบ ถือว่าเป็นความคุ้มค่าทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นประหยัดงบในการรักษา ชีวิตครอบครัวก็ดีขึ้น

นายนิมิตร์ ยังกล่าวยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัว คือ คาเลตต้า และเอ็กซ์ตร้าไวแรน ที่จะมีอายุการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาโดยรัฐ (ซีแอล) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2554 ยาจะมีราคาแพงขึ้น ทำให้รัฐไม่สามารถใช้ราคาถูกได้ ดังนั้น หากรัฐขยายเวลาทำซีแอลออกไปอีก 2 ปี จะทำให้ผู้ป่วยใช้ยาราคาถูกได้ตลอดไป นอกจากนี้ ไทยควรสนับสนุนในเวทีระดับโลกเพื่อที่จะให้บริษัทผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ หลายแห่งปรับยาต้านไวรัสจากหลายสูตรมารวมกันเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลเกือบทุกประเทศให้ความสำคัญในการจัดงบประมาณซื้อยา ต้านเอดส์ให้คุ้มค่า

นายนิมิตร์ ยังแนะนำหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื่อเอดส์ เรียกร้องใช้สิทธิ์ขอยาต้านไวรัส 3 ตัว (Combine Drug) ป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เพราะหากได้รับยาตัวเดียว เช่น ยาเอแซดที (AZT) จะทำให้อัตราทารกติดเชื้อจากแม่สูง หากหญิงตั้งครรภ์สามารถรับยาต้านไวรัสทั้ง 3 ตัว จะทำให้อัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกน้อยกว่าร้อยละ 1 ทั้งนี้ ปัจจุบันในแต่ละปีไทยมีหญิงครรภ์ 800,000 คน ในจำนวนมีผู้ติดเชื้อประมาณ 6,000 คน

นายนิมิตร ยังกล่าวถึงมาตรการเจาะเลือดในแรงงานเพื่อคัดกรองหาผู้ติดเชื้อเอดส์ ว่าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเอดส์ ควรให้ข้อมูลความรู้ การป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนโครงการถุงยางอนามัยระดับชาตินั้น เห็นว่าปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก จากงบประมาณที่เคยให้ต่อปีเกือบ 100 ล้านบาท ปัจจุบันลดลง ส่วนต้นทุนถุงยาง 1.50 บาทต่อถุงเฉลี่ยใช้คนละ 100 ถุงต่อปี ถือว่าเป็นต้นทุนต่ำเทียบกับความคุ้มค่าในการป้องกันเอดส์และกามโรค .-

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน