อภ.เตรียมจ่ายชดเชยใช้สิทธิ์ซีแอลยา 3 รายการ ล้านกว่าบาท

อภ.เตรียมจ่ายค่าชดเชยใช้สิทธิ์ยาซีแอล 3 รายการ กว่า 1 ล้านบาท ส่งหนังสือแจ้งบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรแล้ว ระบุหาก 2 เดือน ไม่ตอบกลับ พร้อมนำเช็คไปให้ที่กรมทรัพย์สินฯ
      
       ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการประกาศบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ว่า ขณะนี้ อภ.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรยาที่ไทยได้ประกาศซีแอล จำนวน 3 บริษัท คือ 1.บริษัท เมิร์ค ชาร์ป แอนด์ โดม จำกัด ผู้ผลิตยาต้านไวรัส เอชไอวี “เอฟฟาไวเรนซ์” (Efavirenz) 2.บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี “โลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์” (Lopinavir + Ritonavir) และ 3.บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ “โคลพิโดเกรล” (Clopidogrel) เพื่อแจ้งให้ทราบว่า อภ.จะดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์ให้กับเจ้าของสิทธิบัตรยา ในอัตรา ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการจำหน่ายยา

       
       “ทั้ง นี้ จะขอให้บริษัทยาแจ้งรายละเอียดกลับมาว่า อภ.จะต้องชำระเงินวิธีใด และอย่างไร โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อภ.สามารถจำหน่ายยาทั้ง 3 รายการดังกล่าว เป็นเงิน มูลค่า 217 ล้านบาท ในจำนวนนี้ อภ.จะต้องค่าเป็นค่าชดเชย 1,085,000 บาท”ภญ.พิศมร กล่าว

       
       ภญ.พิศมร กล่าวต่อว่า เนื่องจาก อภ.ได้จำหน่ายยาที่ประกาศซีแอลมาเกือบ 2 ปีแล้ว ซึ่งตามกระบวนการจะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิดังกล่าว ที่ผ่านมา อภ.พยายามติดต่อไปยังบริษัทยาทั้ง 3 แห่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ จึงทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษากฎหมาย ได้มีมติให้ อภ.เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมให้คำแนะนำว่า หากยังไมได้รับความร่วมมือจากบริษัทยาอีกภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน อภ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้รับทราบปัญหา และจะนำเงินค่าชดเชยดังกล่าวไปมอบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นผู้รับผิด ชอบเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด และถือว่า อภ.ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการแล้ว

ผู้จัดการออนไลน์ 2 มี.ค. 2552

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน