ทบทวนซีแอลเพื่อใคร? (ยาราคาแพง แต่ชีวิตราคาถูกอย่างนั้นหรือ?)

“เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มของเรา ทั้งกินยา ทั้งผ่าตัด ผลสุดท้ายดื้อยา จึงขอยาตัวใหม่ ซึ่งหมอก็พิจารณาแล้วว่าต้องให้ยาอีกตัวหนึ่งเข็มละ 1 แสนบาท ใช้ 18 เข็ม ก็มีหมอ 2 กลุ่มประชุมกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าคนไข้จะต้องใช้ยาตัวนี้ แต่หมออีกกลุ่มคัดค้าน เนื่องจากยามันแพงมาก ผู้ป่วยไม่มีสิทธิเบิกเพราะอยู่นอกบัญชีที่จะเบิกได้ ทางโรงพยาบาลจะต้องรับผิดชอบจ่ายเอง คุณหมอคนที่คัดค้านก็บอกว่าให้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เก็บยานี้ไว้ให้คนป่วยรายอื่นเถอะ ซึ่งผู้ป่วยก็อยู่ในที่ประชุมด้วย เขาโทรมาเล่าให้พี่ฟังแล้วก็ร้องไห้ ทั้งที่โอกาสรอดเขามี แต่หมอไม่ให้เอง สุดท้าย คุณหมอที่สนับสนุนให้ให้ยาก็ถามว่ามีเงินจ่ายมั้ย เข็มละ 1 แสนบาท ถ้าจ่ายได้ จะเบิกยามาฉีดให้ คนไข้บอกว่าไม่มี ไม่มีแน่นอน คุณหมอจึงให้กลับมานอนที่บ้าน รับยาตามอาการ เช่น ปวดหัวกินยาแก้ปวดหัว ท้องเสียก็กินยาแก้ท้องเสีย ในที่สุดก็เสียชีวิต พวกเราเสียใจเมื่อรู้ว่าจะมีการทบทวนซีแอล รู้สึกเหมือนเราถูกทอดทิ้ง เขาคงคิดว่าเราไม่มีความสำคัญอะไร เหมือนพวกชามร้าว เอาไปกองไว้มุมหนึ่ง วันดีคืนดีก็โละทิ้ง”

พรรณธร จงสุวัฒน์ สมาชิกชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าชะตากรรมของเพื่อนคนหนึ่งที่เธอไม่เคยลืมให้เราฟัง

ข่าวคราวการทบทวนการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) หรือซีแอล ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขสมัย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ได้ประกาศกับยารักษามะเร็ง 4 ชนิด ไม่ใช่ข่าวใหม่แกะกล่อง แต่เมื่อ ‘ยาราคาแพง ชีวิตราคาถูก’ ยังคงเป็นเรื่องจริงอำมหิตที่หมิ่นแคลน ‘คุณค่า’ ความเป็นมนุษย์ ขณะที่ผู้มีอำนาจกลับใส่ใจแค่เรื่อง ‘มูลค่า’ และสะกดคำว่ามนุษยธรรมไม่เป็น

...ก็ต้องกระทุ้งกันต่อ

1

ทันทีที่ ไชยา สะสมทรัพย์ ขึ้นเป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข เขาป่าวร้องทันทีว่าจะต้องมีการทบทวนการประกาศซีแอล ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้เขาคงตระหนักดีแล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่แสนผลีผลามและผิดพลาดอย่างร้ายแรง

แต่อย่างว่า สำหรับนักการเมืองไทยแล้ว การเสียหน้าเป็นสิ่งที่ยินยอมกันไม่ได้ ไชยาจึงเดินหน้าต่อโดยมิไยดีถึงกระแสสังคมด้วยการปลด นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการ ซึ่งบทบาทที่ผ่านมาของนายแพทย์ศิริวัฒน์คือการเป็นประธานในการเจรจาต่อรองราคายาที่ทำหน้าที่ได้อย่างสง่าผ่าเผย จึงไม่มีใครเชื่อว่างานนี้ไม่เกี่ยวข้องกับซีแอล

“ถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง” เป็นคำพูดแรกๆ ที่พลั้งหล่นออกมาจากปากเจ้ากระทรวง ซึ่งเวลาต่อมาเขาคงได้รับการบอกกล่าวแล้วว่า การประกาศซีแอลนั้นทั้งถูกใจ ถูกต้อง ถูกกฎหมาย และถูกครรลองคลองธรรมอย่างยิ่ง หรือที่บอกว่า “ขณะนี้มีผู้ป่วยมะเร็งเพียง 12,000 คน” แต่ความจริงขณะนี้มีผู้ป่วยมะเร็งไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

นี่จึงเป็นภาพสะท้อนที่น่าหวั่นใจนักว่าผู้บริหารประเทศมีข้อมูลอยู่ในมือก่อนจะพูดอะไรออกมาหรือไม่

และแม้ว่าจะเป็นเพียงการทบทวน แต่ขณะนี้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบไปเรียบร้อยแล้ว

“ตอนนี้กระทบกับคนไข้โรคหัวใจ เนื่องจากบริษัทยาคลาริดาของอินเดียซึ่งรับจะนำเข้ายาตัวนี้ 2.1 ล้านเม็ด ปรากฏว่าหลังจากที่คุณไชยาออกมาพูดก็ทำให้บริษัทไม่มั่นใจ เขาจะขอปรึกษานักกฎหมายของบริษัทเขา 1 เดือน ทำให้เราไม่สามารถใช้ยาราคาถูก อย่างน้อยก็ช้าไป 1 เดือน ซึ่งยาตัวนี้ราคาเม็ดละ 80-120 บาท แต่นำเข้าจากอินเดียจะตกราคาเม็ดละ 1 บาทกับอีก 10 สตางค์ เพราะฉะนั้นมูลค่าตรงนี้รัฐก็ต้องเสียเงิน เพราะเราประกาศแล้ว คนไข้จึงมีสิทธิใช้ยาตัวนี้แล้ว รัฐจึงต้องจ่ายเงินมากขึ้น คนที่ได้ประโยชน์ก็คือบริษัทยา”

สารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำซีแอลมะเร็งซึ่งจะต้องมีกระบวนการต่อเนื่องก็เกิดอาการเกียร์ว่าง อันเนื่องมาจากปากคำของเจ้ากระทรวง

“ผมคิดว่าคุณไชยาถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจัดการความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข” นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าในสมัยที่คุณหมอมงคลเป็นรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนทำงาน เลือกใช้คนที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ทำให้ดูเหมือนบทบาทของหลายๆ คนไม่โดดเด่น เป็นไปได้ว่าหลายคนที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นคนที่มีชนัก มีบาดแผล พอหมอมงคลลงจากตำแหน่ง มันก็เลยปะทุ แล้วได้รัฐมนตรีที่อาจจะไม่ทันกับเกมการเมืองของข้าราชการประจำ นี่จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการหยิบยกกรณีซีแอลขึ้นมาเล่นงานกัน เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว คนใหญ่ๆ โตๆ ในกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้อยากทำ ไม่กล้าทำซีแอล อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจก็ดีหรือเนื่องจากความสัมพันธ์ที่เคยมีกับบริษัทยา”

แต่เรากำลังคิดว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม การทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับผลกระทบจากเกมแห่งอำนาจของใคร คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรมต่อผู้ป่วย

2

เหตุผลในการทบทวนซีแอลมะเร็งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกตั้งข้อสังเกตว่าช่างสอดคล้องกับของทางบริษัทยาซึ่งนำโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์หรือพรีมาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าไทยอาจจะถูกสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีหรือสิทธิพิเศษทางศุลกากร (ดูล้อมกรอบคำสัมภาษณ์นายแพทย์วิชัย) แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดว่ายามะเร็งทั้ง 4 ตัวที่ประกาศซีแอล ไม่มียาตัวไหนเป็นของบริษัทยาในสหรัฐเลย

อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมจำเป็นต้องรับทราบก็คือการประกาศซีแอลยาต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานั้นๆ แต่ราคายาที่แพงยังส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพโดยรวม สารีบอกว่า

“ระบบหลักประกันที่เกิดขึ้นก็เพราะคนเข้าไม่ถึงบริการ และคนส่วนหนึ่งต้องล้มละลายเวลาเจ็บป่วยจากโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจัยสำคัญในระบบหลักประกันคือค่าใช้จ่ายด้านยา ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในระบบหลักประกันสุขภาพประมาณ 153,000 ล้านบาท แต่ 74,000 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา ยิ่งเราทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาลดลงไปเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพในด้านอื่นๆ ถูกพัฒนามากขึ้นเท่านั้น เพราะเงินจะถูกนำไปใช้ในส่วนต่างๆ มากขึ้น”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการประกาศซีแอลไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังหวั่นเกรงอยู่ในเวลานี้ก็คือการแช่แข็งซีแอล เพราะแม้ว่ามีการประกาศซีแอลมะเร็งแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องมีอีกหลายขั้นตอนเพื่อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ยกเลิกซีแอล แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ต่อ การประกาศซีแอลก็ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่สังคมจะต้องเคลื่อนไหวกดดันต่อไป

“เราจะผลักดันให้มีการทำตามประกาศซีแอลทั้ง 4 รายการ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหน ส่วนที่ 2 ขณะนี้ตัวผู้ป่วยยังรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก เราก็ได้มีการปรึกษาหารือกันในกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งเป็นแสนคนต่อปี รวมครอบครัวผู้ป่วยเหล่านั้นเข้าไปด้วย ถ้าคนกลุ่มนี้มีข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้นจะเกิดแรงสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้” สารีบอกถึงการขับเคลื่อนในจังหวะต่อจากนี้

เราได้แต่หวังว่าจะมีอะไรดลใจให้ผู้มีอำนาจมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยและไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ต้องจากไปอย่างไร้ศักดิ์ศรี สุดท้าย เรามีคำพูดของ ผู้ช่วยศาตราจารย์จริยา จริยานุกูล ประธานคนปัจจุบันชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่อยากฝากถึงผู้มีอำนาจบางคน

“ถ้าเรามีโอกาสที่ทำให้ยามันถูกลงและช่วยชีวิตผู้อื่น มันก็น่าจะทำ เพราะมันไม่ได้เสียหายอะไร งบประมาณเราก็ประหยัดขึ้น ไม่ใช่ว่าคนรวยมีสิทธิ์อยู่รอด แต่คนจนไม่มีสิทธิ์ ก็อยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่าถ้าสามารถยกมือให้เงินเดือนตัวเองได้ ก็ยกมือตรงนี้เพื่อให้ชีวิตผู้อื่นบ้างก็น่าจะดี”

ซีแอลมะเร็งคือหน้าด่านที่ต้องยันไว้ให้อยู่

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ที่ถูกกดดันจากไชยา สะสมทรัพย์ให้ลาออก เพราะเขาคือบุคคลแถวหน้าที่ออกมาสู้เรื่องซีแอล นายแพทย์วิชัยได้เปิดให้เราเห็นถึงความน่าเคลือบแคลงหลายอย่างในการทบทวนซีแอลครั้งนี้ รวมถึงการรุกคืบของบริษัทยาข้ามชาติเพื่อฉกชิงอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์จากเรา

“เป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้บริหารระดับสูงของประเทศหวั่นไหวต่อข้อมูลนี้เกินสมควรหรือไม่ เพราะข้อมูลจากสมาคมพรีมาไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ และอ้างลอยๆ ว่าสมาคมผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ จะเสนอให้ยูเอสทีอาร์พิจารณา ไม่ใชยูเอสทีอาร์เป็นผู้บอกว่าถ้าไทยทำซีแอล เขาจะจัดอันดับเราใหม่ ถ้าเป็นหนังสือของยูเอสทีอาร์ออกมาอย่างนั้นจริงก็สมควรที่จะหวั่นไหว แต่นี่เป็นการกล่าวอ้าวสองสามชั้นโดยสมาคมพรีมาเท่านั้นเอง และแม้ว่าจะเป็นหนังสือของยูเอสทีอาร์ออกมาอย่างนั้น ก็คงต้องตรวจสอบต่อไปว่าเป็นหนังสือฉบับจริงหรือไม่ เพราะยูเอสทีอาร์รู้ดีว่าไม่สามารถหยิบยกเรื่องการทำซีแอลของประเทศไทยมาเป็นเหตุผลในการตอบโต้ทางการค้าใดๆ ได้ เพราะสิ่งที่ไทยทำนั้นทำตามข้อตกลงทริปส์ภายใต้องค์การการค้าโลกอนุญาตเอาไว้ เจ้าหน้าที่ระดับรองผู้อำนวยการยูเอสทีอาร์ที่มาพบเราบอกเลยว่า สิ่งที่เราทำ Good Reasonable ผมจึงบอกว่าเป็นการหวั่นไหวมากเกินสมควรหรือเปล่า”

*การทบทวนซีแอลจะหยุดแค่นี้หรือไม่ หรือว่ากำลังเป็นการรุกคืบของบริษัทยาทีละก้าว
ที่เราทำซีแอลอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะกฎหมายสิทธิบัตรของเรายังมีมาตรา 51 อยู่ แม้เราจะถูกบังคับให้แก้ไขมา 2 ครั้ง จากปี 2522 มาถึงปี 2535 ให้ครอบคลุมตัวผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิต และยืดอายุสิทธิบัตรออกไปเป็น 20 ปี แต่สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการมาตลอดในการเจรจาเอฟทีเอ คือการขยายอายุสิทธิบัตรออกไปอีก ที่เราเรียกว่าทริปส์พลัส คือสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าข้อตกลงทริปส์ภายใต้องค์การการค้าโลก ด้วยการขยายอายุสิทธิบัตรจาก 20 เป็น 25 ปี และแก้ไขกฎหมายมาตรา 51 ว่าถ้าเราจะทำซีแอล เราจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน ก็แปลว่าเราไม่มีทางจะทำซีแอลได้อีกแล้วในอนาคต เพราะเมื่อเราจะทำซีแอลเขาก็ต้องขัดขวางทุกวิถีทาง แต่เชื่อแน่ได้เลยว่าได้คืบแล้วจะเอาศอก คือต้องการทริปส์พลัส เรื่องนี้แน่นอนเลย ชัดเจน

วิธีการที่เราจะทำมาค้าขายหรืออยู่ในสังคมโลกกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ เราก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมด้วย ถ้าเราหงอ ถามว่าสหรัฐฯ จะหยุดหรือไม่ ผมไม่เชื่อว่าจะหยุด ถ้าเราทำซีแอล มันคือเครื่องมือของประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยของชาติ ทำตามหลักการของประเทศและโลก ถ้าเราเลิกซีแอล แน่นอนว่าเราปลดอาวุธของเรา แล้วเราก็หวังว่าสหรัฐฯ จะให้ความเมตตาปรานีเรา ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่วิธีของประเทศที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีอิสรเสรี

*ในทางการเมืองหมายความว่าซีแอลเป็นหน้าด่านที่ถ้าบริษัทผ่านไปได้ก็จะต้องมีการรุกคืบต่อไป จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่จะต้องยันกันให้อยู่
แน่นอน เราต้องยัน ที่เราออกมาต่อสู้ยืนหยัดก็จากประสบการณ์ที่เรามองเห็นบริบทการต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ประมาณปี 2528-2529 ที่เขาบีบบังคับให้เราต้องแก้กฎหมาย กว่า 20 ปีมานี้ เรามีประสบการณ์ เราเรียนรู้มาพอสมควร

*มีการพูดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างแพทยสภากับแพทย์ชนบทรวมอยู่ด้วย
ผมไม่เชื่อว่าแพทยสภาจะต่อต้านซีแอล แต่ตัวนายกแพทยสภาอาจจะต่อต้านโดยดูจากสารนายกแพทยสภาที่เขียนออกมา

แพทย์ร้อยคนเราจะให้ทุกคนเห็นเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ แล้วเรื่องการทำซีแอลก็ไม่ใช่เรื่องของแพทย์ชนบท เป็นเรื่องของกระบวนการที่มีความพยายามมายาวนาน ส่วนครั้งนี้ก็เริ่มโดยคณะอนุกรรมการของ สปสช. ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหน่วยราชการ นักวิชาการ นายกแพทยสภาก็นั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าเรื่องการทำซีแอลเป็นการต่อสู้ระหว่างแพทย์ชนบทกับแพทยสภานี่ไม่จริง แต่เป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนผลักดันให้ทำ

*คุณประมณฑ์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าฯ เคยพูดไว้ว่าถ้าเราประกาศซีแอลแล้วประหยัด 4,000 ล้านบาท แต่ต้องสูญเสียรายได้ 4,000 ล้านดอลลาร์ ก็จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักดูให้ดีถึงผลได้-ผลเสีย
ผมก็อ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณประมณฑ์ เขาก็พูดจากจุดยืนทางการค้า แต่ก็มีข้อสังเกตสองสามข้อ

หนึ่ง-เขาบอกว่าเห็นด้วยกับการทำซีแอลยาเอดส์และโรคเรื้อรัง เขาคงไม่ทราบว่ามะเร็งเป็นโรคเรื้อรังและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

สอง-เขาบอกว่าทำซีแอลแล้วจะสูญเสียเป็นมูลค่าถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรื่องนี้ต้องถามว่าเอาตัวเลขมาจากไหน เราทำซีแอลไปแล้วสามสี่ตัว ถามว่าเกิดผลกระทบอะไรทางการค้าหรือเปล่า ไม่มีนะ

สาม-ตัวเลขที่บอกว่าจะสูญเสียเป็นตัวเลขอะไร เพราะขณะนี้ประเทศไทยค้าขายกับสหรัฐ เท่าที่ผมทราบตัวเลขเหลือมูลค่าเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของการส่งออกทั้งหมด ใน 12 เปอร์เซ็นต์นี้มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เรายังต้องอาศัยสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพี แล้วจีเอสพีมันมีแต่จะลดลงไปเรื่อยๆ หลายประเทศก็ไม่ได้พึ่งตรงนี้ ประเทศไทยเองสินค้าหลายชนิดก็จะหมดสิทธิตรงนี้ไปโดยอัตโนมัติ เพราะการจะได้จีเอสพีจะได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าเงื่อนไข

ประเทศไทยเคยได้สิทธิในการส่งออกอัญมณีจึงทำให้ส่งออกได้สูงมาก เราจึงหมดสิทธิที่จะได้รับ แต่ว่าสหรัฐให้สิทธิพิเศษต่อไปอีก 5 ปี ทำไม เขาให้ตามนโยบายแบ่งแยกและปกครอง เพราะเขาต้องการให้ประเทศไทยเซ็นเอฟทีเอ เขาจึงดึงกลุ่มอุตสาหกรรมมาเป็นพวก เพื่อผลักดันให้มีการเซ็นสัญญา ซึ่งตอนนี้ที่ต่อจีเอสพีอีก 5 ปีก็ครบและถูกตัดสิทธิไปแล้ว ไม่เกี่ยวใดๆ กับการทำซีแอล

สุดท้าย คุณประมณฑ์อาจจะไม่ได้ศึกษาว่า ยามะเร็ง 3-4 รายการที่ประกาศ เป็นยาของยุโรปนะ ไม่ใช่ยาของสหรัฐฯ แล้วมันจะไปเกี่ยวอะไรกับสหรัฐฯ

*************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 23 ธันวาคม 2551 14:28 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน