ผ้าขี้ริ้วฟอร์มาลิน พบขายทั่วประเทศ

เผยรายงานสุ่มตรวจเนื้อสัตว์ปนเปื้อนสารอันตรายพบ "ผ้าขี้ริ้ววัว" ผสมฟอร์มาลินมากที่สุด แต่กลับขายเกลื่อนทั่วประเทศ ชี้โรงงานผลิตรายใหญ่อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบด่วน ด้าน สธ.สั่งปิดโรงงานชำแหละซากไก่ปนเปื้อนน้ำยาดองศพแล้ว


เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีการนำเนื้อสัตว์ต่างๆ มาผสมสารฟอร์มาลินหรือน้ำยาดองศพเพื่อยืดอายุอาหารให้เก็บได้นานนั้นเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามให้หมดไปได้ เนื่องจากความเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย และความไม่รู้อันตรายของผู้บริโภค ล่าสุดได้ตรวจพบโรงงานชำแหละซากไก่ผสมฟอร์มาลินที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับการนำเนื้อสัตว์ผสมฟอร์มาลินคือ กระเพาะวัว หรือขี้ริ้ววัว หรือสไบนาง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขันมากกว่านี้ ทั้งนี้ จากการรวบรวมรายงานการเฝ้าระวังและสุ่มตรวจตัวอย่างเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายตาม ตลาดสดและร้านอาหารทั่วประเทศประจำปี 2553 พบการปนเปื้อนฟอร์มาลินในผ้าขี้ริ้ววัวมากที่สุด รองลงมาเป็นปลาหมึกกรอบ จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะผ้าขี้ริ้ววัวที่ผ่านการกัดหรือฟอกขาวไม่ควรรับประทาน

"เมื่อ เดือนมกราคม 2554 มีการบุกทลายแหล่งขายส่งเนื้อสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น ตรวจพบผ้าขี้ริ้ววัวปนเปื้อนฟอร์มาลิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้ยึดไว้และเผาทำลายพร้อมดำเนินคดีตาม กฎหมาย จากการสอบสวนเจ้าของร้านพบว่า ผ้าขี้ริ้ววัวอันตรายนี้ถูกส่งมาจากโรงงานแคทแอนคอม ถ.พระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งมีแหล่งใหญ่ผลิตผ้าขี้ริ้ววัวแช่น้ำยาดองศพอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบโดยด่วน" ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผย

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงแนวทางการควบคุมเนื้อสัตว์ผสมฟอร์มาลินว่า กรณีนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การชำแหละ การแปรรูป และการจำหน่าย อย.จะรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการผลิตกลางทางจนถึงปลายทาง ส่วนต้นทางการผลิตเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ สำหรับ อย.จะตรวจสอบการแปรรูปและจำหน่าย หากตรวจพบว่ามีการตรวจพบฟอร์มาลินซึ่งถือเป็นสารต้องห้ามใช้ในอาหาร จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 58 ของ พ.ร.บ.อาหาร

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการหลายรายลักลอบนำสารต้องห้ามดังกล่าวไปใช้ในการถนอมอาหาร เช่น ผ้าขี้ริ้ววัว และอาหารทะเล เช่น ปลาหมึกกรอบ ดังนั้นผู้บริโภคควรตรวจสอบด้วยการดม ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด เพราะสารดังกล่าวจะมีกลิ่นฉุนรุนแรง หากพบว่ามีการผสมสารฟอร์มาลินในอาหารให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทันที 

"การควบคุมไม่ให้มีการนำฟอร์มาลินมาใช้กับอาหาร จะมีหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปตรวจสอบ และจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ส่วนต้นทางการผลิตคือ การชำแหละเนื้อสัตว์แล้วมีการผสมฟอร์มาลิน อย.ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจะต้องประสานให้กรมปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบต่อไป" เลขาธิการ อย.เผย

เลขาธิการ อย.ยังกล่าวถึงผลกระทบจากการใช้ฟอร์มาลินว่า หากเป็นการสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้เกิดอาการผื่นคัน หากเป็นการสูดดมจะทำให้ไอ มีผลออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง และมีผลต่อเนื้อปอด เกิดการกลายพันธุ์ของระบบสืบพันธุ์ และหากรับสารดังกล่าวด้วยวิธีการรับประทานจะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดท้อง ระบบการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ตับและไตเสื่อม รวมถึงก่อให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นได้ในอนาคต
ด้านนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ที่แช่สารฟอร์มาลินและนำไปขายตามร้านอาหาร ถือว่าผิด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ มาตรา 17 หากตรวจพบถือว่ามีความผิดในข้อหาเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 1 ปี จึงอยากให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสหากพบว่าโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์แห่งใดใช้ สารอันตราย ส่วนกรณีโรงงานชำแหละเนื้อวัวที่แช่สารฟอร์มาลินในจังหวัดสมุทรสาคร จะประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจับกุมผู้ผลิตมาดำเนินคดีต่อไป

สำหรับ กรณีตรวจพบโรงงานชำแหละซากไก่ผสมฟอร์มาลินที่จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดได้มีการสั่งปิดโรงงานดังกล่าวแล้ว โดยเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ใน 3 ข้อหา คือ 1.การก่อเหตุรำคาญ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ดำเนินกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.เป็นสถานที่เก็บอาหารที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตรโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอก จากนี้ กรณีดังกล่าวยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับคือ 1.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งถ้ามีการตรวจพบว่าไก่ตายที่นำมาชำแหละนั้น มีการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาลิน เป็นต้น เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีสิ่งปนเปื้อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 และ 3.พ.ร.บ.โรคติดต่อ หากพบว่ามีแหล่งที่แพร่เชื้อจะถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.

..........................................................................................................................................

ที่มา : ไทยโพสต์ 14 มิถุนายน 2554

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน