อย.คลายกังวลให้คนกินเส้น เผยคุมเข้ม รง.เส้นก๋วยเตี๋ยว

คนกินเส้นหายห่วง อย.มีมาตรการกำกับดูแลโรงงานก๋วยเตี๋ยวรอบด้าน ทั้งทางกฎหมาย การสุ่มตรวจการเฝ้าระวัง และการฝึกอบรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มุ่งพัฒนาสถานที่ผลิตให้ได้ตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี    เพื่อผลักดันให้เป็นโรงงานต้นแบบ กรณีฝ่าฝืนกฎหมาย อย.จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ  แนะ ผู้บริโภคที่จะซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวมาทำอาหารเอง ควรเลือกซื้อเส้นแห้ง และเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีฉลากจะดีที่สุด

นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการ-อาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้บริโภคอาหารที่ ปลอดภัย คุ้มค่า และสมประโยชน์ กรณีเส้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งเป็นอาหารที่ผู้บริโภคนิยมบริโภค และมีผู้ประกอบการ    ทั่วประเทศกว่า 160 ราย   ซึ่งอันตรายที่อาจพบในเส้นก๋วยเตี๋ยว อาทิ วัตถุเจือปนอาหารประเภทวัตถุกันเสีย หรือ  สารกันบูด ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งน้ำมันทาเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีสารโพลาร์เกินมาตรฐาน 


ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคก๋วยเตี๋ยว อย.จึงมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแลหลายมาตรการ ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร, สารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ฉลาก และภาชนะบรรจุ รวมทั้ง ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร หรือจีเอ็มพี (GMP) สำหรับก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งประกาศฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 และสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ให้เป็นไปตามประกาศฉบับนี้ภายใน 2 ปี คือ ภายในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

รอง เลขาธิการฯ อย.กล่าวต่อไปว่า ขอผู้บริโภควางใจการดำเนินงานของ อย.ในการควบคุม กำกับดูแลสถานที่ผลิตก๋วยเตี๋ยว อย.มีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ทั้งการสุ่มเก็บตัวอย่าง การเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและจำหน่ายเส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาสถานที่ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศให้ปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี ซึ่งหากปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ อย.จะยกระดับให้เป็นต้นแบบโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว นอกจากนี้ อย.ยังจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเส้นก๋วยเตี๋ยว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง


ที่สำคัญ อย.ยังมีมาตรการทางกฎหมายร่วมด้วย โดยห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อจำหน่ายอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีฝ่าฝืน อย  จะ ดำเนินคดีตามกฎหมายจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีโรงงานผลิตก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ที่ทำจากเส้นแป้งข้าวเจ้าไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานจีเอ็มพี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีฉลากไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และเรื่องของคุณภาพเส้นก๋วยเตี๋ยว  หากตรวจพบวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน   มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

รอง เลขาธิการฯ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ขอแนะวิธีการเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวมาทำอาหารเพื่อบริโภคควรเลือกเส้น ก๋วยเตี๋ยวที่มีภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และสังเกตฉลากที่ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต วันที่ผลิตหรือ  วันหมดอายุ และส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรซื้อเส้นแห้งมาบริโภค เนื่องจากสามารถเก็บไว้  ได้นาน กรณีซื้อเส้นสดมาเพื่อบริโภค ไม่ควรเก็บไว้นาน ข้อสังเกตคือ หากเส้นสดสามารถเก็บไว้ได้นาน โดยยังคงสภาพเดิมให้พึงระวัง เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของวัตถุกันเสียที่เกินมาตรฐาน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  


ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2554

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน