อย.เข้มงวดอย่างต่อ เนื่องกรณีนำเข้าเครื่องในสุกร ทั้งคุณลักษณะของการขนส่ง ใบรับรองวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร เพื่อให้ถูกต้องตามหลักจีเอ็มพี อีกทั้งยังสุ่มเก็บตัวอย่าง เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างต่อเนื่อง หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปลอดภัย จะสั่งทำลายหรือผลักดันไม่ให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนุษย์ รวมทั้งเครื่องในสุกรซึ่งนำเข้าในลักษณะแช่แข็ง ส่วนใหญ่มาจากประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป เช่น ประเทศเดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เยอรมนี สเปน อิตาลี เบลเยี่ยม อีกทั้งยังมีการนำเข้าจากประเทศ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกองงานด่าน-อาหารและยา เป็นหน่วยงานที่จะดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย เข้มงวดตรวจสอบคุณลักษณะ ของการขนส่ง ใบรับรองวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์-วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice : GMP) โดย อย.จะดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารปนเปื้อนที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น กลุ่มโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม กลุ่มยาสัตว์ตกค้าง เช่น Chlortetracycline, Oxytetracycline, Gentamicin กลุ่มสารเร่งเนื้อแดง (เบตาอะโกนิสต์) เช่น Clenbuterol, Ractopamine กลุ่มจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรค เช่น Clostridium perfringens, Staphylococcus aureus เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อย.มีมาตรการการดำเนินการที่เข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ.2551-2553 อย.ได้เก็บตัวอย่างเครื่องในสุกรเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 971 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน จำนวน 19 ตัวอย่าง โดยมีการใช้สาร Ractopamine ซึ่งเป็นสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 9 ตัวอย่าง และพบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินมาตรฐานที่กำหนดจำนวน 10 ตัวอย่าง ทั้งนี้ อย.ได้เรียกเก็บคืนสินค้าดังกล่าว และลงโทษผู้นำเข้าตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีเฝ้าระวังการนำเข้าครั้งต่อไปด้วยการยึดอายัดผลิตภัณฑ์ไว้ เพื่อรอผลการตรวจวิเคราะห์ก่อน ซึ่งหากปราศจากสารปนเปื้อน อย.จึงจะถอนอายัดให้จำหน่ายได้ แต่หากพบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ปลอดภัย อย.จะสั่งทำลายหรือผลักดันไม่ให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศอีก
เลขาธิการฯ ในตอนท้ายว่า อย.ไม่นิ่งนอนใจ หากตรวจพบสารปนเปื้อนในเครื่องในสุกรที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย.จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยกรณีฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข อาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย.1556 เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด
...............................................................................................................................................
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มกราคม 2554 16:57 น.