สุ่ม 38 ร้าน พบขั้นตอนทำไม่สะอาด ทั้งใส่สารกันรา สีสังเคราะห์ พบเชื้อจุลินทรีย์-สารเคมีอื้อ เตือนฝรั่งดองบ๊วยสีน่ากลัวระวังสะสมเป็นโรคมะเร็ง ให้เวลา 1 เดือนแก้ไข คาดโทษคนขายปรับ 2 หมื่น คุก 2 ปี หรือทั้งจำ-ปรับ
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.53 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมพญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมแถลงข่าวผลการทดสอบความไม่ปลอดภัยใน “ผลไม้รถเข็น”
นายองอาจ เปิดเผยว่า สคบ. ได้รับร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารเข้ามามากโดยเฉพาะ ผลไม้รถเข็นที่มีขายทั่วไป จึงร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันการศึกษา3 แห่ง ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลไม้รถเข็นจากแหล่งจำหน่าย 38 ร้านใน กทม. และปริมณฑลเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ความไม่ปลอดภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยใช้ชุด ทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร (เทสต์ คิท) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบหายาฆ่าแมลงในอาหาร ทดสอบกรดซาลิซิลิคในอาหาร (เชื้อจุลินทรีย์)
ผลการทดสอบพบว่า ผลไม้ 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มหรือเชื้อจุลิน ทรีย์เกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึง 67.3% แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการเตรียมผลไม้ที่จำหน่ายไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ผลไม้ไม่สะอาด และมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ที่อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่าง ถึง 16.3 % และพบการปนเปื้อนของสารกันรา (ซาลิซิลิค) 40.7% ขณะที่ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในผลไม้สด ในส่วนของผลไม้แปรรูปจำพวกของดอง พบการปนเปื้อนหรือเจือปนของสารเคมี และสารปนเปื้อนของสารกันรา ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึง 64.2 % เช่น ฝรั่งดองบ๊วยที่มีสีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนม่วง
รมต.สำนักนายกฯกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้ความรู้ผู้ผลิตและจำหน่ายรับทราบ ถึงพิษภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค และยังผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ระบุผู้ประกอบการ และผู้จำหน่ายที่ทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงควรมีสุขลักษณะที่ดีตั้งแต่เตรียมผลไม้ ภาชนะบรรจุและการจำหน่าย โดยจะให้เวลาปรับปรุงแก้ไข 1 เดือน หากไม่มีการแก้ไข จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายต่อไป
ด้านพญ.มาลินีกล่าวว่า ในส่วนของกทม.โดยชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 50 เขตได้ร่วมกับสำนักอนามัย นำรถโมบายออกสุ่มตรวจสารปนเปื้อนจากแหล่งผลิตอยู่เสมอ จากการลงพื้นที่แหล่งผลิตและกระจายสินค้า พบผู้ผลิตและจำหน่ายใช้วัสดุ วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งมีการเติมสารเคมีซึ่งเป็นสารอันตรายเจือปนในผลไม้ เช่น สารกันราและสีสังเคราะห์ เพื่อให้ผลไม้มีสีน่ารับประทานโดยไม่คำถึงถึงอันตรายที่อาจเกิดกับสุขภาพผู้ บริโภคอาจท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ มีไข้ หายใจขัด และอาจก่อให้เกิดมะเร็งในระยาว
ทั้งนี้ ได้มีการตักเตือนและตรวจสอบซ้ำบ่อยครั้ง ซึ่งหากพบมีการปนเปื้อนที่รุนแรงก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที แต่ทั้งนี้ผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคก็มี ดังนั้น ผู้บริโภคควรมีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกรับประทานผลไม้โดยพิจารณาจากสีและลักษณะภายนอกที่ สังเกตได้ว่าเป็นสีธรรมชาติ ไม่มีสารเจือปน หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีสีสดผิดธรรมชาติ และเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือเตรียมรับประทานเอง ซึ่งจะปลอดภัยจากสารหรือวัตถุเจือปนที่เป็นอันตราย
........................................................................................
ที่มา : สยามรัฐรายวัน 14 กันยายน 2553