อย.เตือนอย่าดื่มน้ำมังคุดเพื่อหวังรักษาโรค นอกจากไม่หายแล้วอาจทำให้ทรุดหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาคูมาดิน ยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น ผู้ป่วยเบาหวาน ยิ่งต้องระวังเพราะมีน้ำตาลผสมในปริมาณสูง อย่าหลงเชื่อโฆษณาว่าจะรักษาโรคได้ ยัน อย.ไม่เคยขึ้นทะเบียนน้ำมังคุดเป็นยา วิธีที่ดีที่สุดคือผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายว่า พบผู้ป่วยหญิง อายุ 81 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ เหนื่อย เพลีย หลังตรวจร่างกายพบรอยจ้ำเลือดทั่วตัว ต่อมามีอาการท้องเสีย ถ่ายมีมูก ส่งตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเลือดปนในอุจจาระ ซักถามผู้ป่วยพบว่าดื่มน้ำมังคุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่ารักษาโรคปวดขา วันละ 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณเกือบ 1 เดือน อาการปวดขาหายหลังหยุดดื่ม 2-3 วัน มีอาการปวดทั่วตัว ขยับไม่ได้ ทุรนทุราย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะไตบกพร่อง และคาดว่าน้ำมังคุดยี่ห้อดังกล่าวอาจมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ โดยจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์หาสเตียรอยด์ และสิ่งปนเปื้อนอื่นต่อไป
เลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า มังคุดมีสารแซนโทน (xanthones) เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต ต้านมะเร็ง และแก้แพ้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังขาดข้อมูลการทดลองทางคลินิกสนับสนุนว่าการบริโภคมังคุดสามารถมีฤทธิ์ รักษาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เคยมีรายงานในวารสารทางการแพทย์ พบผู้ป่วยชายอายุ 58 ปี ดื่มน้ำมังคุดทุกวันเป็นเวลา 12 เดือน เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลกติกคั่ง ในขณะนี้ถึงแม้ยังไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษในมนุษย์ และยังไม่พบรายงานการแพ้ที่มีผลถึงชีวิต แต่พบอาการไม่พึงประสงค์ได้หลากหลายในแต่ละคน เช่น ผิวหนังบวม แดง ผื่น คัน ปวดข้อชั่วคราวหรือเล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีอาการแพ้ทั่วไป ถ่ายเหลว ลำไส้แปรปรวน และท้องผูก
“ที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาคูมาดิน ยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีการผสมน้ำตาลจำนวนมากในผลิตภัณฑ์ ผู้ที่กำลังได้รับยารักษาโรคอื่นๆ เนื่องจากยังไม่ทราบถึงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างน้ำมังคุดกับยาที่ได้รับ และไม่ควรปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน”
นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้เคยออกคำเตือนผู้ขายผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดที่ โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ ในขณะที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิผล นอกจากนี้น้ำมังคุดบางยี่ห้ออาจมีปริมาณสารสำคัญไม่เหมือนที่ระบุไว้บนฉลาก หรือบางครั้งอาจมีสารอื่นเจือปน และที่สำคัญยังไม่มีการทดสอบการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา อาหาร สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่น
เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า ขอเตือนประชาชนผู้บริโภคว่า อย่าหลงเชื่อการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะการหวังผลในการบำบัดรักษา หรือบรรเทาอาการของโรค อาจทำให้เสียเงินและเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากได้รับอันตรายจากการบริโภคน้ำมังคุด สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. โทรศัพท์ และโทรสาร 0-2590-7253 เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/vigilance หรือร้องเรียนที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 กรกฎาคม 2553 14:47 น