จุฬาชงเทคนิคหาสารปนเปื้อนอาหาร-ยา พร้อมทำเป็นชุดทดสอบ

นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดเทคนิคใหม่ ตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนในอาหารและยาที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พร้อมทำเป็นชุดตรวจขนาดเล็ก ทนทานกว่าเทคนิคเดิม ญี่ปุ่นเริ่มนำร่องใช้งานแล้ว

ความก้าวหน้าดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดย รศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล นักวิจัยภาควิชาเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมวิจัยคู่ขนานกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเทคนิคตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร และองค์ประกอบสำคัญในยา เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่อุตสาหกรรมอาหารและยาในอนาคต

นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า ขั้วไฟฟ้าฟิล์มบางโบรอนโดปไดมอนด์ (ขั้วเพชรเจือด้วยโบรอน) เป็นขั้วไฟฟ้าชนิดใหม่เหมาะสำหรับงานด้านเคมีวิเคราะห์ โดยเฉพาะการตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหารและองค์ประกอบสำคัญในยา เพชรที่นำมาเคลือบขั้วไฟฟ้ามีความทนต่อสารเคมี และมีอายุการใช้งานนาน

ผลงานดังกล่าวได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นเทคนิคการวิเคราะห์ทางเคมีไฟฟ้า สามารถตรวจหาสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ข้อดีของเทคนิคใหม่เมื่อเทียบกับ ขั้วคาร์บอน ขั้วทอง ขั้วพลาตินัม ที่เคยมีใช้มาก่อน ตัวขั้วเพชรแกร่งทนทานต่อสารเคมีนั่นเอง

จากการทดสอบตรวจสารประกอบซัลเฟอร์ในยา อาทิ D-penicillamine ที่ใช้ในการรักษาโรคไขข้อ การตรวจหา captopril สารที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และตรวจหาสารซัลโฟนาไมด์ (เป็นสาเหตุเกิดอาการอาหารเป็นพิษ) ในกุ้ง พบว่าเทคนิคใหม่สามารถบ่งชี้ปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ได้อย่างแม่นยำ และมีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ในอนาคต


“เทคนิคของเราพร้อมใช้งานจริงแล้ว โดยอยู่ระหว่างขยายผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ร่วมกับเทคนิค อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพสูงรองรับอุตสาหกรรมยาและอาหารของไทยใน อนาคต”นักวิจัย


การใช้ขั้วเพชรเจือด้วยโบรอนจะต้องใช้ร่วมกับ เครื่องตรวจสารปนเปื้อนระบบของไหล (Flow injection system) เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ระบบดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ผลได้ 45-60 ครั้งต่อชั่วโมง โดยใช้ตัวอย่างสารที่ต้องการตรวจในปริมาณที่น้อยหรือประมาณ 25 ไมโครลิตรเท่าน้น


อนาคตขั้วเพชรเจือด้วยโบรอนยังสามารถพัฒนาให้ เป็นชุดคิดส์ขนาดเล็กให้ใช้งานง่ายสามารถตรวจสารได้หลายชนิดกว่าขั้วไฟฟ้า ทั่วไป ทนต่อความเป็นกรดด่างของสารเคมีได้ดี


อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ทำให้เทคนิคดังกล่าวยังไม่ได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันยังมีเทคนิคการตรวจให้เลือกหลายแบบ แต่ในญี่ปุ่นได้นำเทคนิคนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและน้ำเสียบ้างแล้ว

โครงการ - การพัฒนาขั้วเพชรเจือด้วยโบรอนตรวจสารปนเปื้อน
ติดต่อ - This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พิมพ์ อีเมล