สังคม ไทยได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของความพยายามผลักดันให้เป็น "สังคมปลอดแอลกอฮอล์" ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ตลอดเส้นทางของการบังคับใช้กฎหมายล้วนมีแต่อุปสรรค ถูกต่อต้านจากผู้เสียผลประโยชน์ ความไม่เข้าใจจากสาธารณชน เส้นทางนี้จึงไม่ได้โรยกลีบกุหลาบอย่างที่หวัง
เจตนารมณ์ของการออก กฎหมายฉบับนี้เพื่อ "ป้องกันเยาวชน วัยรุ่น ไม่ให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่" เมื่อต้องการควบคุมการบริโภค ก็จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการจำหน่าย การส่งเสริมการขาย การโฆษณา สถานที่ดื่ม กิน ตลอดจนจำกัดอายุผู้ซื้อ ฯลฯ ที่ยังละเมิดกฎหมายกันหลากหลาย
หากพูดถึงมาตรการควบคุมทางกฎหมาย ผู้ที่จะชี้แจงเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจมาก หากเปรียบเทียบกับการควบคุมบุหรี่ที่ต้องใช้เวลากวดขันนาน 16-17 ปี จึงจะสำเร็จ ซึ่งในช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมายจะเน้นการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ มากกว่าการใช้มาตรการเอาผิดทางกฎหมาย
"ปัจจุบันยังมี การลักลอบกระทำผิดอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ห้ามโฆษณาที่เป็นการส่งเสริมการขายทุกรูป แบบ แต่ที่เห็นโฆษณาตามสื่อต่างๆ ทั้ง ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร บิลบอร์ด ทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น เมื่อมีการเตือน ผู้ประกอบการก็มักจะออกมาแก้เกี้ยวว่ายังโฆษณาได้ เพราะยังไม่มีการออกกฎกระทรวงมารองรับ ซึ่งประเด็นนี้ต้องชี้แจงว่าในทางกฎหมายให้ยึดตาม พ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายแม่เท่านั้น ส่วนกฎกระทรวง หรือประกาศต่างๆ เป็นกฎหมายลูกออกมารองรับ ว่าจะยกเว้นการควบคุมการโฆษณาอะไรบ้าง และอย่างไรเท่านั้น" นพ.สมานกล่าว
นพ.สมานกล่าวว่า จากนี้ไปจะเอาผิดผู้ละเมิดกฎหมายทั้งภาคผู้ประกอบการผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้จัดจำหน่าย ห้างร้านต่างๆ รวมสื่อมวลชนทุกแขนง ที่เป็นสื่อกลางในการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ได้เชิญสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ผลิต นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาชี้แจงความผิดเป็นครั้งสุดท้าย หากพบการกระทำผิดอีกจะดำเนินการจับ ปรับทันที
"ขณะนี้อยู่ระหว่าง การเตรียมความพร้อมเพื่อดีเดย์จับปรับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มกวดขันให้ได้ก่อนเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีการเดินทางออกต่างจังหวัดจำนวนมาก พร้อมออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวันหรือเวลาที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกมาบังคับใช้" นพ.สมานกล่าว
นพ.สมานกล่าวว่า หลังจากนี้ไปการออกกฎกระทรวง ประกาศต่างๆ ที่เป็นกฎหมายลูกจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ทั้งการควบคุมการโฆษณาทางโทรทัศน์ ช่วงเวลาในการโฆษณา การโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกลางแจ้งต่างๆ เพราะคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมีหน้าที่เสนอความเห็นการดำเนินการต่างๆ ไปยังคณะกรรมการนโนบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รอการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯเท่านั้น
สำหรับ ความคืบหน้าของการอกกฎหมายลูก จะสำเร็จเป็นเรื่องแรก คือ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันหรือเวลาที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องให้นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาว่าจะห้ามจำหน่ายเหล้า เบียร์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างไร โดยสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯได้เสนอเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ห้ามตลอดทุกวัน 2.ห้ามเฉพาะหัว-ท้ายเทศกาล คือห้ามในวันที่ 11-12 เมษายน และ 16-17 เมษายน และ 3.ห้ามช่วงกลาง คือ ห้ามวันที่ 13-15 เมษายน
สิ่ง ที่น่าเป็นห่วงคือ นายวิทยา ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะชงเรื่องเข้าคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯอย่างไร จะออกกฎหมายลูกหรือไม่ และจะออกอย่างไร
ข้อมูลจาก นสพ.มติชน 23-02-52