Consumerthai – 31 ม.ค.52 กลุ่มตลาดนัดสีเขียวเมืองยโสธร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชมรมรักษ์ธรรมชาติ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรจัดงานตลาดนัดสีเขียวเมืองยโสธร หวังสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในสถานการณ์อาหารร่วมกันทั้งคนเมืองและชนบท อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจในปัญหาความต้องการระหว่างคนเมือง คนชนบท ณ อาคารแสดงผลผลิตทางการเกษตร อ.เมือง จ.ยโสธร
การจัดตลาดนัดสีเขียวว่า ปัจจุบันผลผลิตอาหารหลายชนิดมาจากฟาร์มในระบบอุตสาหกรรมของบรรษัทการเกษตร เช่น เนื้อหมู ไก่เนื้อ ไข่ไก่ ปลานิล และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปมากมาย และอาหารบางอย่างขนส่งมาไกลจากแหล่งผลิตในต่างประเทศ และอีกด้านหนึ่งวิถีชีวิตพฤติกรรมดำรงชีพของประชาชนก็เปลี่ยนไป ประชาชนในชนบทจำนวนมากได้ละทิ้งการผลิตพื้นฐานที่หลากหลายเพื่อยังชีพ ไปสู่การยังชีพด้วยการซื้ออาหารมากขึ้น โดยพึ่งพารายได้จากการรับจ้างของสมาชิกในครอบครัว
จากสถานการณ์แบบนี้จะนำไปสู่การเผชิญปัญหาใหม่นั่นก็คือ ความไม่ปลอดภัยของอาหาร อาหารที่ถูกขนส่งมาจากแหล่งผลิตที่ห่างไกล โดยที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการผลิตย่อมมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการบริโภค
อีกทั้งการผูกขาดด้านอาหาร เมื่ออาหารมาจากแหล่งผลิตของบรรษัทขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดการผูกขาด ครอบงำตลาดอาหารและส่งผลในการทำลายการผลิตของครอบครัวชาวนารายย่อย เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ห่วงโซ่อาหารของสังคมจะถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยคือเจ้าของบรรษัทการเกษตร
นอกจากนี้ยังทำลายความหลากหลายของอาหารและพันธุกรรมท้องถิ่น กลยุทธการตลาดของบรรษัทอาหารข้ามชาติจะชี้นำ ครอบงำการบริโภคให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์ของตน อาหารท้องถิ่นจะถูกละเลยและส่งผลให้พันธุกรรมท้องถิ่นไม่ได้รับความสนใจและสูญหายในที่สุด และนั่นเป็นที่มาของ ตลาดนัดสีเขียวเมืองยโสธร
นางบุญเรือง แจ่มจำปา ชาวบ้านจากบ้านโสกแม่ปูน หนึ่งในชาวบ้านที่นำผักปลอดสารเคมีมาขายที่ตลาดสีเขียว เล่าถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมจากการใช้สารเคมีมากว่า 20 ปี เป็นเกษตรปลอดสารว่า ช่วงแรกๆมีคนจากเครือข่ายไปอบรมการทำเกษตรกรรมแบบปลอดสารให้ แรกๆที่เริ่มทำ ผลผลิตก็ได้ไม่มากนัก แต่ด้านสุขภาพเริ่มดีขึ้น รวมถึงต้นทุนการผลิตลดน้อยลง จึงทำเกษตรแบบปลอดสารมาเรื่อยๆ
“ผักของเราถูกกว่าผักที่วางขายในตลาดสดด้วยนะ ต้นทุนเราก็น้อยกว่า เราอยากให้คนที่กินผักของเรามีสุขภาพแข็งแรง การเปิดตลาดสีเขียวขึ้น น่าจะช่วยให้พวกเรามีตลาดขายผัก และคนซื้อก็น่าจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น” นางบุญเรือง ชาวบ้านจากบ้านโสกแม่ปูนกล่าว
ผักที่เธอนำมาขาย มีทั้ง มะเขือ ฟัก แฟง ข้าวกล้อง มะขามเปียก ผักพื้นบ้านอย่างผักโขม เป็นต้น
ผู้ซื้อรายหนึ่งที่หอบหิ้ว ของเต็ม 2 มือ กล่าวว่าดีใจที่มีตลาดแห่งนี้เกิดขึ้น อย่างน้อยๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับสุขภาพ
“ผักราคาก็ไม่ต่างกันนัก แต่ที่อยากให้ตลาดแห่งนี้มีเพิ่มขึ้นก็คือ ข้าวสาร”
นอกจากตลาดแห่งนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจในปัญหาความต้องการระหว่างคนเมือง คนชนบท แล้ว ยังพยายามสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในสถานการณ์อาหารร่วมกันทั้งคนเมืองและชนบท เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางออกร่วมกันในอนาคต และทางออกอย่างที่ที่ตลาดแห่งนี้พยายามรณรงค์ก็คือ ลดการใช้ถุงพลาสติกทั้งคนขายและคนซื้อ
ตลาดสดแห่งนี้จะเปิดทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 12.00 น. ที่ อาคารแสดงผลผลิตทางการเกษตร (หอนาฬิกา) อ.เมือง จ.ยโสธร
อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการดี – ดี เพื่อสุขภาพ ที่คุณไม่ควรพลาด