วันที่ 3 ก.พ. 57 เวลา 09.00 น. สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการกลไกเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยในจังหวัดขอนแก่น จัดเวทีความร่วมมือกับนักวิชาการ สื่อมวลชน และหน่วยงานภาครัฐ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารปลอดภัย ณ ห้องภูเวียง โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมจำนวน ๒๐ คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การดำเนินงานเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ นักวิชาการในการเฝ้าระวังและรณรงค์ไม่ใช้สารเคมีในจังหวัดขอนแก่น
นางสาวมาลี สุปันดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกล่าวว่า สถานะระบบเกษตรและอาหารไทย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของพันธุ์พืชผักอยู่ในมือบริษัท ๓-๔ บริษัท, ผักที่วางขายในตลาด ๔๐ เปอร์เซ็นต์มีสารพิษตกค้าง เกษตรกรพบสารพิษในเลือด ในระดับเสี่ยงไม่ปลอดภัย, ๓๖ เปอร์เซ็นต์ผู้บริโภคพบสารพิษในเลือดและมีผู้เสียชีวิตปีละ ๖๐,๐๐๐ คนต่อปี ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เสนอทางนโยบายคือห้ามใช้สารเคมีคือคาร์โบฟูราน(ฟูราดาน)และเมโทมิล(แลนเนท)
นางสาวจินตนา ศรีนุเดช ผู้รับผิดชอบโครงการกลไกเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยในจังหวัดขอนแก่น ชี้ปัญหาสารเคมีการเกษตรตกค้างในพืชผักผลไม้ของไทยอยู่ในปริมาณที่สูงจนน่าตกใจ จากการสุ่มตรวจหาการปนเปื้อนของสารเคมีในผัดสด จากนิตยสารฉลาดซื้อ ยังพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN )
ทางด้านนายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร ประเทศไทย (คสท) กล่าวว่า รัฐขาดมาตรการกำกับการใช้สารเคมีจึงเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้บริโภค เดินหน้าแบนสารเคมีทางการเกษตรอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) พร้อมปฎิรูปการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรใหม่ทั้งหมด มีการกวดขันการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่ไร้การควบคุมอย่างเร่งด่วน
ในส่วนผู้เข้าร่วมเวทีทุกท่านมีความเห็นร่วมกันที่จะแบนหรือรณรงค์ห้ามใช้สารเคมี ๒ ชนิดคือ คาร์โบฟูราน(ฟูราดาน)และเมโทมิล(แลนเนท) โดยการให้ความรู้อันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรผ่านวิทยุชุมชน และร่วมกันทำตลาดทางเลือกให้กับผู้บริโภคในเขตเทศบาลนครขอนแก่นต่อไป
นางสาวจินตนา ศรีนุเดช ศูนย์ข่าวผู้บริโภคขอนแก่น รายงาน