ผู้บริโภคอัดสธ. เร่งรีบประกาศยกเว้นยา

คคบ. อัด "วิทยา" มัดมือชก ยกเว้นยาไม่เป็นสินค้าไม่ปลอดภัย เตือนอย่าฟังแต่กลุ่มเสียประโยชน์ ชี้ ยืมมือหมอป้องบริษัทยา มั่นใจ "อภิสิทธิ์" ไม่เอาด้วย พร้อมเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านหน้าสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาวันนี้


รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) กล่าวว่า การที่นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ได้นำ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย เข้าหารือในที่ประชุม ครม. เสนอให้ออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกเว้นการใช้ยา และเวชภัณฑ์ โดยแพทย์ พยาบาล ไม่ให้บังคับใช้ใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ถูกฟ้องร้อง โดยยืนยันว่า ครม. เห็นชอบด้วยนั้น เรื่องนี้มีความผิดปกติในหลายประเด็น 1.พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ก.พ.นี้ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนั้น การเสนอเพิ่มเติม งดเว้น ปรับแก้ จะทำผ่าน คคบ.

"ไม่มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาใน คคบ.ทั้งๆ ที่มีผู้แทนจากทุกส่วน ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัช ผู้บริโภค ไม่เว้นแม้กระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่เคยพูดถึงเลย จู่ๆ ก็มัดมือชกออกประกาศกระทรวง จึงขอฝากไปถึง รมต.สาธารณสุข ให้รอบคอบกว่านี้ อย่ารับฟังแต่กลุ่มอำนาจ กลุ่มผู้เสียประโยชน์" รศ.ดร.จิราพรกล่าว

รศ.ดร.จิราพร กล่าวอีกว่า เนื้อความใน (ร่าง) กฎกระทรวง ขัดแย้งกับสิ่งที่นายวิทยา ระบุว่า จะยกเว้นเฉพาะยาที่ผสมเพื่อใช้ฉีด ไม่รวมยาที่ไม่มีคุณภาพ แต่กฎกระทรวงเขียนว่า ให้ยาและเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมอ พยาบาล เภสัช ไม่ถือเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

ทางด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในวันนี้ (19 ก.พ.) ทางเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้บริโภคจะเข้ายื่นหนังสือ พร้อมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ คัดค้าน ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทางด้านนาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งให้กฤษฎีกาพิจารณานั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลให้มีความเห็นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันคุ้มครองประชาชน ซึ่งกรณีที่เสนอให้มีการออกประกาศ โดยให้ยกเว้นการปรุงยาและให้ยาของวิชาชีพทางการแพทย์นั้น ก็เพื่อไม่ให้กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ไม่สะกิด หรือขัดขวางการทำงานของวิชาชีพใด ซึ่งหากทำให้ไม่สามารถทำงานได้ จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อช่วยเหลือ

 

 

- กรุงเทพธุรกิจ  19-02-52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน