เครือข่ายผู้บริโภคเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ยื่นหนังสือรัฐมนตรีสาธารณสุข อย่าเร่งรีบอนุมัติฉลากขนม GDA เอาใจกลุ่มทุน ระบุฉลากจีดีเอไม่เป็นประโยชน์ผู้บริโภค เสนอติดฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรให้ข้อมูลเข้าใจง่ายกว่า
Consumerthai 7 เม.ย.54 สธ. เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร 10 จังหวัด ประกอบไปด้วยตัวแทนจากเชียงใหม่, พะเยา, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม, สตูล และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริโภคตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ให้ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม หากคณะกรรมการอาหารเห็นชอบให้ใช้ฉลากจีดีเอสีเดียว ก็ถือว่าขัดกับมติ ครม.อย่างชัดเจน
{youtube width="300" height="220"}z8XUogTJfwg{/youtube}
นายอิสราวุธ ทองคำ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 61 คุ้มครองสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง หน่วยงานรัฐจะตรากฎอะไรต้องรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่มาบอกเราว่าฉลาก GDA ดีอย่างเดียว ทั้งที่การใส่สีสัญญาณไฟจราจรและข้อความ สูง ปานกลาง และต่ำ ลงในฉลาก จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกบริโภคอาหารได้รวดเร็วและเหมาะสม ต่างกับการใช้เพียง GDA อย่างเดียว ที่ไม่มีการแยกระดับปริมาณสารอาหารระหว่าง สูง ปานกลาง และต่ำ ทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาไม่สามารถเลือกอาหารเพื่อสุขภาพอย่างง่ายและรวดเร็วได้
“ฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียว ทำให้เห็นฉลากนี้ชัดเจนน้อยกว่าฉลากแบบอื่น จนบางครั้งกลืนไปกับบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงมักใช้ฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียวเพื่อหลบเลี่ยงความสนใจจากผู้บริโภคในค่าสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์แต่มีมากจนทำลายสุขภาพ” นายอิสราวุธ กล่าว
ยื่นหนังสือต่อ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
เยาวชน จากเครือข่ายร่วมรณรงค์
ตัวอย่าง ฉลากขนมแบบ สัญญาณไฟจราจร
ฉลากโภชนาการแบบง่าย: เปรียบเทียบ GDA และColor-coded GDA
Guideline Daily Amounts (GDA) คือ การแสดงปริมาณสารอาหารเป็น กรัม มิลลิกรัม และร้อยละของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน โดยแสดงอยู่ส่วนหน้าของบรรจุภัณฑ์ นำมาจากกรอบข้อมูลโภชนาการที่อยู่ด้านหลังของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำให้สังเกตได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุว่าได้รับสารอาหารนั้นๆ มากหรือน้อย
Color-coded GDA คือ การแสดงปริมาณสารอาหารเช่นเดียวกับ GDA แต่มีการเติมสีเขียว เหลือง แดง เพื่อแสดงความมากน้อยของสารอาหารนั้นๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนดของอาหารแต่ละชนิด ดังตัวอย่าง เช่น เกณฑ์อาหารระหว่างมื้อ มีการกำหนดให้สีเขียวเป็นสีแสดงว่าผ่านเกณฑ์ สีแดงเกินเกณฑ์มากกว่า 2 เท่า และสีเหลืองเกินเกณฑ์ปานกลาง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเตือนผู้บริโภคว่าได้รับสารอาหารสูงเกินเกณฑ์หรือผ่านเกณฑ์ เพื่อจะได้ระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารมื้อต่อไป และผู้บริโภคสามารถเลือกผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกันโดยเปรียบเทียบจากสีที่แสดงได้ง่าย รวดเร็วและถูกต้อง
สรุปงานวิจัยเกี่ยวกับสัญลักษณ์โภชนาการ
รายงานการศึกษาในคนไทย พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้มีฉลากแบบง่ายและการแสดงสีสัญญาณไฟจราจรเป็นที่เข้าใจง่ายที่สุด รายงานในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ปกครองมากกว่าร้อยละ 80 จาก 17,000 คนเลือกสีสัญญาณไฟจราจรเพราะสามารถสอนลูกให้เลือกผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพได้ นอกจากนี้ British Medical Association ได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการในความคิดที่ใช้ฉลากสัญญาณไฟจราจรบนผลิตภัณฑ์ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์อาหาร
สำหรับการแสดงแบบ GDA พบว่า มีผู้ที่ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “Guideline Daily Amount” (GDA) และไม่เข้าใจในตัวเลขของฉลากแบบ GDA ว่าใช้ประเมินคุณค่าโภชนาการของผลิตภัณฑ์นั้นได้อย่างไร นอกจากนี้ ฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียว (monochrome) ทำให้เกิดการเข้าใจส่วนประกอบอาหารอื่นๆ ในบรรจุภัณฑ์คลาดเคลื่อนง่ายกว่าฉลากแบบอื่น การแสดง GDA ทำให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภค และผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ข้อมูลที่แสดงเป็นตัวเลขแบบ GDA ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารได้
ประมวลการขับเคลื่อนมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณ
ปี 2550 |
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการโภชนาการและการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ (อ.3) ได้พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการการควบคุมขนมขบเคี้ยวและการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการในรูปแบบของสัญญาณไฟจราจร และมีมติที่ประชุมให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปดำเนินการหารูปแบบของสัญลักษณ์ทางโภชนาการที่เหมาะสม โดยให้มีการรวมรูปแบบของ Thai RDI model และ MTL (Multiple Traffic Light food labeling หรือการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการในรูปแบบของสัญญาณไฟจราจร) เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด |
19 กพ 2553 |
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่สอง พ.ศ. 2552 (มติที่ 8) เรื่อง การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน |
20 กค 2553 |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่สอง พ.ศ. 2552 (มติที่ 8) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติในส่วนที่เกี่ยวข้อง |
ตค 2553 – กพ 2554 |
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนเพื่อการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 2.5 ในคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (ตามหนังสือเลขที่ 14/2553) ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาความพร้อมสำหรับมาตรการฉลากสีสัญญาณจราจร ประกอบด้วย |
26 กพ 54 |
- ทำหนังสือขอเข้าพบเลขาอย. (แต่ได้รับการมอบให้เข้าพบผอ.กองอาหาร อย. แทน) |
9 มีค 54 |
การเสวนา “รวมพลังครอบครัว เปิดไฟเขียว ฉลากขนม” |
17 มีค 54 |
การประชุมคณะอนุกรรมการโภชนาการและการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ (อ.3) และที่ประชุมมีมติให้อย.จัดประชุมคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาเกณฑ์อาหาร ก่อนการพิจารณารูปแบบฉลาก โดยให้คณะทำงานย่อยร่างเกณฑ์และจัดทำ roadmap มาพิจารณาในที่ประชุมต่อไป |
22 มีค 54 |
เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารสีสัญญาณ ยื่นหนังสือนายกฯ และรมว.กระทรวงสาธารณสุข (รมว.ให้คนมารับแทน) หนุนจัดเรตติ้งฉลากขนมตามสัญญาณไฟจราจร พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 1,100 ราย |
25 มีค 54 |
การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดคุณภาพ มาตรฐานและหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการควบคุมอาหาร เพื่อพิจารณาการใช้ GDA แบบมีสี ไม่มีสี หรือมีสีสัญญาณ และที่ประชุมมีมติให้บังคับใช้ GDA แบบมีสีเดียว หน้าบรรจุภัณฑ์ ที่ระบุปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในอาหาร 5 ประเภทตามประกาศฉบับ 305 (มันฝรั่งทอดกรอบหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้) (โดยไม่รอดำเนินการตามผลการประชุมของคณะอนุกรรมการอ.3 เมื่อวันที่ 17 มีค) |
1 เมย 54 |
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดประชุมชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) เพื่อให้มีการบังคับการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการในรูปแบบ monochrome GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ GDA ที่มีสีเดียวกันทั้งหมด บนหน้าบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรีและมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 มติที่ 8 ข้อ 3.2 ที่ระบุให้ “ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม” |
5 เมย 54 |
เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารสีสัญญาณยื่นหนังสือให้เลขาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี-ประธานคสช. พิจารณายับยั้งการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ ๒) |