กรมการขนส่งทางบก ยืนยัน!!! นโยบายกำกับดูแลรถโดยสารสองชั้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกการเดินทาง ปรับแก้ความสูงรถโดยสารสองชั้นจดทะเบียนใหม่และเปลี่ยนตัวถังรถ ความสูงต้องไม่เกิน 4 เมตร เป็นไปตามมาตรฐานสากล ย้ำ!!! รถโดยสารทุกประเภท ทุกคัน ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านวิศวกรรมยานยนต์และเกณฑ์การตรวจสภาพรถเพื่อความปลอดภัยในทุกมิติ
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยของรถทุกคันบนท้องถนน มุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารทุกประเภท ทุกคัน จึงได้กำหนดให้รถโดยสารที่มีความสูงตั้งแต่ 3.60 เมตรขึ้นไป ต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบการทรงตัวบนพื้นลาดเอียง 30 องศา โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น โดยได้ปรับลดความสูงของรถจดทะเบียนใหม่หรือปรับปรุงตัวถัง ความสูงต้องไม่เกิน 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป ส่วนรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 19 มีนาคม 2560 ยังคงใช้รถได้ต่อไป เว้นแต่มีการปรับปรุงตัวถังซึ่งจะต้องนำรถเข้าตรวจสภาพซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ความสูงไม่เกิน 4 เมตร และต้องผ่านการทดสอบการทรงตัวตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสำหรับรถโดยสารทุกคันตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านวิศวกรรมยานยนต์และเกณฑ์การตรวจสภาพรถเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ รถโดยสารทุกประเภททุกคันต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบครบถ้วนตามที่กำหนด ต้องติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อการบริหารจัดการเดินรถเชิงป้องกัน ควบคุมกำกับ ดูแล บังคับใช้ ติดตามการเดินรถ ลักษณะ Online แบบ Real-time ทั้งพิกัด ความเร็ว ชั่วโมงการขับรถ ตลอดจนพฤติกรรมพนักงานขับรถ ต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการห้ามล้อตามเกณฑ์ที่กำหนด ต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง มีเครื่องดับเพลิง ตัวถังส่วนที่เป็นกระจกต้องเป็นกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ พร้อมติดตั้งค้อนทุบกระจก กำหนดการจัดวางที่นั่งตามข้อกำหนด (สำหรับรถตู้โดยสารสาธารณะต้องไม่เกิน 13 ที่นั่ง) มีทางออกฉุกเฉิน และต้องมีประกันภัยคุ้มครองทุกที่นั่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสารต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถวงเงินคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกายไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อคนในแต่ละครั้ง และไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบในการตรวจความพร้อมของรถและพนักงานขับรถทุกครั้งก่อนการให้บริการตามรายการ Checklist เพิ่มเติมจากมาตรการกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะต้องเข้ารับการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือการยกระดับมาตรฐานตัวรถให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยแล้ว กรมการขนส่งทางบกยังเข้มงวดผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะทุกคน เพื่อให้ได้คนขับรถที่มีคุณภาพและมีจิตสำนึกในการขับรถอย่างปลอดภัย ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการขับรถอย่างปลอดภัยและต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไม่น้อย 12 ชั่วโมง ประกอบด้วย กฎหมาย ระเบียบ และประกาศของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการขับรถสาธารณะ มารยาทสำหรับผู้ขับรถสาธารณะ กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกที่ควรทราบ และเทคนิคการขับรถอย่างปลอดภัย และผู้ประกอบการขนส่งจะต้องจัดให้มีการอบรมหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ขับรถเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และกรมการขนส่งทางบกยังพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากล ภายใต้โครงการ Sure Driving / Smart Driver ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบ ในทุกขั้นตอนเป็นระบบ Electronic ตั้งแต่กระบวนการแสดงตัวตน การอบรม และทุกขั้นตอนการทดสอบ ยกเลิกการทดสอบโดยเจ้าหน้าที่ เป็นการยกระดับพัฒนาหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ได้กำหนดเป็นแผน ปฏิบัติการ Action Plan พร้อมจะประกาศใช้เป็นขั้นตอน ภายในปี 2561 นี้
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อความปลอดภัยทั้งด้านผู้ประกอบการ ตัวรถ และพนักงานขับรถ อย่างยั่งยืน กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาตรการดำเนินงานต่อเนื่อง อาทิ อยู่ระหว่างศึกษาการกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุก ต้องมีผู้จัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน (Transport safety manager) เป็นผู้รับผิดชอบของผู้ประกอบการ ด้านความปลอดภัยทั้งในการบริหารจัดการ การวางแผนจัดการการขนส่ง การดูแลพนักงานขับรถ ความพร้อมของยานพาหนะ และการกำกับดูแลความปลอดภัยในการขนส่ง ซึ่งจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และ คุณสมบัติ Safety Manager ทั้งผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกได้ภายในปี 2561 นี้ พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รถโดยสารที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงตามมาตรฐานสากล ส่วนรถโดยสารที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความแข็งแรงที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัย, การรับรองความแข็งแรงของโครงสร้างหลักของตัวถังรถโดยสาร และมาตรฐานการลุกไหม้ของวัสดุสำหรับตกแต่งในรถโดยสาร และอยู่ระหว่างกำหนดสมรรถนะของระบบห้ามล้อของรถยนต์ รวมถึงสมรรถนะของระบบการป้องกันการล็อกของล้อ (ABS) และระบบหน่วงความเร็ว (Retarder) ซึ่งจะดำเนินการออกประกาศภายในปี 2561 เพื่อให้การควบคุม กำกับ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยของรถทุกคันมีความครอบคลุมในทุกมิติ ทุกประเด็นความปลอดภัย และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม