ข่าว/บทความรถโดยสาร

ไทยแชมป์โลก'ตายบนถนน' ปีใหม่นี้เตรียมรับมือซ้ำซาก

580901 cardri
ไทยก้าวขึ้นแท่นที่ 1 ของโลก แชมป์อุบัติเหตุยอดตายบนถนนสูงสุดแซงประเทศลิเบีย

ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ มีการนำเสนอข่าวประเทศไทยเตรียมขึ้นแท่นเบอร์ 1 ถนนอันตรายที่สุดในโลก และแล้วก็เป็นจริง  ล่าสุดวันที่ 14 ธ.ค. นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวผ่าน "เดลินิวส์ออนไลน์" ระบุว่า เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์เวิลด์แอตลาส www.worldatlas.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับของโลก เปิดเผยว่า รายชื่อประเทศ 20 อันดับ ที่มีอัตราการตายบนท้องถนนมากที่สุด ซึ่งน่าแปลกไม่ปรากฏชื่อประเทศลิเบีย แต่รายชื่อประเทศไทย กลับมาเป็นอันดับ 1 ของโลกแทนที่ประเทศลิเบีย จากเดิมที่ไทยอยู่อันดับ 2 โดยไทยมีอัตราการตาย 36.2 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้พฤติกรรมผิดๆ ในการขับขี่บนท้องถนนของคนไทย ยังสูงมากกว่าหลายประเทศ ได้แก่ ป้ายกำหนดความเร็วบนทางด่วน 80 กม./ชม. มีใครขับไม่เกินบ้าง ถ้าขับช้ากลายเป็นผิดถูกบีบแตรไล่ หรือการขับสวนเลน และป้ายบังคับห้ามกลับรถก็ยังฝ่าฝืน โทรขณะขับขี่ก็ยังพบได้สูง แม้มีกฎหมายเอาผิด ไปจนถึงเมาแล้วขับ ฯลฯ

"นิสัยคนไทยทำผิดแล้วไม่โดน จะทำถูกไปทำไม เพราะมนุษย์อยากสบาย ในประเทศอื่นอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือแถบยุโรป ประชากรขับรถดีมาก และที่เราต้องรู้คือ ใน 30 อันดับแรกที่ประกาศนั้น ไม่มีลิเบียเลย เพราะพบว่าภายในประเทศมีการสู้รบ จึงมีคนตายบนถนนมาก แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการขับขี่รถ ไทยจึงขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่องค์การอนามัยโลก (WHO)ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ" เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าว

นพ.แท้จริง ยังเผยอีกว่า เหตุผลที่ประเทศไทย ยังบังคับใช้กฎหมายไม่สำเร็จมาจาก 3 ประการสำคัญต่อไปนี้ 1.คอรัปชั่นบนท้องถนนเกิดขึ้นได้ที่ประเทศไทย 2.ประเทศไทยมีระบบอุปถัมภ์สูงมาก นายสามารถคุยกับนายได้ และ 3.ระบบสังคมอลุ่มอล่วย แต่แปลกเมื่อคนไทยไปอยู่ต่างประเทศ กลับปรับตัวได้ ซึ่งผลกระทบจากการประกาศขึ้นเป็นอันดับ 1 ต่างชาติจะมองว่า หากมาเที่ยวแล้วไม่ปลอดภัยต่อการเดินทางบนท้องถนน ก็อาจจะยกเลิกและเลือกไปประเทศอื่นใกล้เคียง โดยหากบางประเทศนำข้อมูลไปโฆษณาเชิญชวนว่า ท่องเที่ยวประเทศเขาแล้วดีกว่า ปลอดภัยแน่นนอน ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวดิ่งลง หรือแม้แต่ประกันภัยเดินทาง (insurance) ก็อาจจะแพงขึ้นอีกด้วย ขณะที่ข้อดีจากการขึ้นเป็นอันดับที่ 1 นั้น อุบัติเหตุทางถนนไม่เคยให้คุณแต่ประการใด

อย่างไรก็ตามเมื่อปี 59 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,356 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 58 จำนวน 2,877 ราย (ปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,479 ราย ) และ 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย ซึ่งช่วงวัยที่เสียชีวิตสูงสุด คือวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าตกใจยิ่งเพราะเป็นความสูญเสียที่มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งยังไม่นับรวมจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและพิการอีกปีละนับล้านๆ คน เมื่อตีเป็นมูลค่าความสูญเสียรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี

นพ.แท้จริง กล่าวทิ้งท้ายว่า การผลักดันเรื่องการติดกล้องหน้ารถ ที่ตนได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านเห็นด้วยแต่กลับยังไม่มีหน่วยงานใดสนองนโยบาย ซึ่งตนมองเห็นว่า จริตของสังคมไทยที่ชอบจับผิดผู้อื่น เรื่องกล้องหน้ารถน่าจะสอดคล้องกับนิสัยคนไทย ประกอบกับมีช่องทางสื่อสารโดยง่าย พึ่งโลกออนไลน์ที่สามารถแพร่คลิปเหตุการณ์เฉพาะช่วงที่เกิดอุบัติเหตุได้ แม้ว่ากฎหมายจะทำอะไรไม่ได้ แต่ก็จะเห็นว่าสังคมได้พิพากษาจากคลิป แรงกระเพื่อมก็จะมีมากยิ่งขึ้น บุคคลผู้กระทำผิดเสมือน "ตายทั้งเป็น" ถูกขุดคุ้ยประวัติทุกอย่าง เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยโซเชียลฯ ศักดิ์สิทธ์ ไม่เหมือนต่างประเทศที่กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องสนับสนุนให้รถทุกคันควรติดกล้องหน้ารถ และกำลังจะถึงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2561 ซึ่งตนต่อสู้กับอุบัติเหตุมาแล้วกว่า 20 ปี หากจะทำให้ยอดคนตายลดลงเหลือ 10,000 ราย แต่ก็ยังถือว่ายอดยังสูง อย่างไรเสียอาจจะสามารถช่วยลดอันดับและจำนวนคนตายบนท้องถนนได้

logo dailynews2017

พิมพ์ อีเมล