ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดทำขึ้นสองปีครั้ง พบว่าในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากทั่วโลกปีละ 1.25 ล้านคน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกรองจากลิเบีย
และคาดการณ์ว่าประเทศไทยอาจวิกฤตและขยับอันดับขึ้นมาในอนาคต ขณะที่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเทศกาลต่าง ๆ เกินกว่า 50% เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ทำงานขับเคลื่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และมีตัวเลขแฝงของจีดีพีที่เสียไปด้วย โดยมีการประเมินมูลค่าในปี 2549 คาดว่าประเทศไทยสูญเงินไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2559 คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 3.4-4.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะกลุ่มคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่จะเข้ามาขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยยังมีอัตราการเกิดที่ต่ำลงด้วย
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2554-2558 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จาก 23,390 คน มาอยู่ที่ 19,479 คน แต่สถานการณ์ในปี 2559 ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นไปที่ 22,356 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 3,000 คน ใกล้เคียงกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมตัวเลขของคนเจ็บและคนพิการอีกนับล้านคน โดยพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุและมีการตายมากที่สุดคือภาคตะวันออก
ฉะนั้นไทยมีโอกาสขึ้นอันดับ 1 ของรายงานองค์การอนามัยโลกที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่จะประกาศในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และจังหวัดหรือพื้นที่ใดมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงมาก จะกลายเป็น killing zone ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยหรือขับรถผ่าน ก็มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าที่อื่น
ด้าน ดร.ปรีดา จาตุรพงศ์ นักวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า โอกาสการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนขึ้นอยู่กับจังหวัดที่อยู่อาศัย เมื่อเปรียบเทียบด้านจำนวนรถจดทะเบียน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตต่ำที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ยะลา สตูล สุโขทัย เชียงใหม่ น่าน ระนอง อำนาจเจริญ พิจิตร และ 10 อันดับที่เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ระยอง สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 39% คนเดินเท้า 5% และคนขี่จักรยาน 1%
สำหรับจังหวัดที่มีอันดับผู้เสียชีวิตลดลงเมื่อเทียบกับผลรายงานความปลอดภัยทางถนนปี 2557 กับปี 2559 ใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ ตาก ชุมพร ปราจีนบุรี และนครสวรรค์ และจังหวัดที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น คือ สระแก้ว ลพบุรี นครนายก อ่างทอง และสิงห์บุรี
ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เปิดเผยว่า มูลค่าที่เสียไปหลังจากเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตประมาณ 4 แสนล้านบาท นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลผู้รอดชีวิตที่บาดเจ็บและพิการอีก คาดว่าน่าจะประมาณ 1 ใน 3 จากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปี
ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาฯ สามารถทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.roadsafetythai.org และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น Road Safety ได้ทั้งระบบ IOS และ Android ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป