ข่าว/บทความรถโดยสาร

เริ่มใช้แล้วบัสเล็กแทนรถตู้โดยสาร

601002 new2
ดีเดย์ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้โดยสาร เริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน(10 ปี)ก่อน และจะทยอยเปลี่ยนในเส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด (หมวด 2) และเส้นทางระหว่างจังหวัด (หมวด 3 ที่มีจุดจอดระหว่างทาง)

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 60 นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถสาธารณะของประชาชน คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้กำหนดมาตรการนำรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐาน 2 (จ) จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ที่ไม่ใช่ลักษณะรถตู้) และหรือรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21 - 30 ที่นั่ง ที่ต้องมีระบบเบรกแบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสาร

แต่เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการให้มีช่วงเวลาปรับตัว จึงได้กำหนดระยะเวลาแบบเป็นขั้นตอน โดยจะเริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (ครบ 10 ปี) ก่อน ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนในเส้นทาง หมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง และหมวด 3 ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด เฉพาะเส้นทางที่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ส่วนเส้นทางหมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค รวมถึงเส้นทางหมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด ที่ไม่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งที่จะเข้าหลักเกณฑ์ปี 2562 ขณะนี้ ยังสามารถนำรถตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทนคันเดิมได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 แต่กำหนดเงื่อนไขต้องเป็นรถใหม่ หรือรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี และจะมีระยะเวลาในการวิ่งบริการในเส้นทางรวมแล้วไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนรถครั้งแรก ทั้งยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเดินรถอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรถตู้โดยสารหมวด 3 ต้องแสดงข้อความ “ห้ามรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง” ด้านหน้ารถและด้านข้างรถ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแบบเป็นขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน ลดผลกระทบของผู้ประกอบการ มีช่วงเวลาปรับตัว รองรับภาคการผลิตในประเทศ ควบคู่กับการกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อจูงใจและลดผลกระทบของผู้ประกอบการ อาทิ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรวมตัวกัน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือสหกรณ์เพื่อการเดินรถ

เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการจัดหารถโดยสารขนาดเล็ก หารือกับสถาบันการเงินเรื่องการค้ำประกันเงินกู้และจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ จะมีการติดตามประเมินผลหลังจากเริ่มใช้รถโดยสารขนาดเล็กในการให้บริการ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มอัตราการใช้บริการของประชาชน พร้อมกันนี้ ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการและแนวทางอุดหนุนรถโดยสารประจำทางทั้งระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

ขอบคุณภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Cherdchai-Isuzu_mini_bus_in_Bangkok.jpg

พิมพ์ อีเมล