ข่าว/บทความรถโดยสาร

บขส.เตรียมทบทวนเส้นทางเดินรถใหม่ รองรับไฮสปีดเทรน-อีอีซีเกิด

traincoverบขส.ตั้งคณะทำงานทบทวนเส้นทางเดินรถโดยสารใหม่ รองรับไฮสปีดเทรน-อีอีซีเกิด เดินหน้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ภายในช่วง 2 เดือนนับจากนี้ไป บขส.จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณารายละเอียดเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและรองรับรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากพิจารณาแล้วเสร็จจะส่งให้คณะกรรมการบขส.พิจารณาต่อไป

สาเหตุที่บขส.ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ –นครราชสีมา หากโครงการเสร็จและเปิดให้บริการ จะส่งผลกระทบต่อการเดินรถโดยสารของ บขส. เนื่องจากในบางเส้นทางมีความทับซ้อนกัน เช่น กรุงเทพฯ-นครราสีมา ซึ่งต้องปรับแผนงานใหม่ โดยบขส.อาจเข้ามาทำหน้าที่ฟีดเดอร์ หรือการจัดระบบขนส่งเชื่อมต่อไฮปรีดเทรนในบางเส้นทาง เพราะการจะเข้าไปแข่งขันในเรื่องเวลาเดินทางคงเป็นไปไม่ได้ ขณะที่อัตราค่าโดยสารไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการอย่างรอบคอบ ฝ่ายการเดินรถบขส.จะจัดทำกลยุทธ์และแผนการตลาดเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณา เช่น เส้นทางที่มีกำไร และเส้นทางที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน และเส้นทางเดินรถที่จำเป็นต้องปรับลดค่าใช้จ่าย ขณะที่พนักงานขับรถต้องมีคุณภาพในการให้บริการ นอกจากนี้การที่รัฐบาลมีนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะทำให้เกิดการค้าและการลงทุนในภาคตะวันออกมากขึ้น ซึ่งต้องพิจารณาว่าความต้องการใช้บริการรถโดยสารจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด หากมีการลงทุนในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่ม

นายจิระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ บขส.ยังมีแผนที่จะเพิ่มรายได้จากพื้นที่ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น จากปัจจุบันมีรายได้คิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้รวมเท่านั้น ขณะที่รายได้จากการเดินรถสูงถึงร้อยละ 80 โดยอยู่ระหว่างพิจารณาจะนำพื้นที่ที่มีอยู่และไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สามแยกไฟฉายอีก 3 ไร่ พื้นที่บริเวณปิ่นเกล้า 10 ไร่ที่ขณะนี้ใช้เป็นที่จอดรถตู้ และพื้นที่เอกมัย 7 ไร่ แต่การพัฒนาพื้นที่นี้ได้จะต้องมีการย้ายสถานีขนส่งเอกมัยออกไปก่อนแต่จะเป็นที่ใดนั้น อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดอยู่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 เดือน โดยมีทางเลือกหลายแนวทาง เช่น สร้างอาคารจุดจอดรถโดยสาร 2 ชั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็พัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือให้เอกชนจัดหาพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณบางนา หรือไบเทคเป็นสถานีใหม่ และให้เอกชนเป็นผู้พัฒนาพื้นที่เอกมัย เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องรอผลการศึกษาก่อนว่ารูปแบบใดมีความคุ้มทุนมากสุด และเสนอคณะกรรมการ บขส.อนุมัติ แต่จุดสร้างสถานีแห่งใหม่จะต้องเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเดินทางสะดวก

ส่วนราคาน้ำมันที่ผันผวน มีผลต่อต้นทุนการเดินรถ ประกอบกับในปัจจุบันการแข่งขันธุรกิจเดินรถสูง และสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ที่เติบโตต่อเนื่อง และอัตราค่าโดยสารไม่ได้สูงมากนักทำให้รายได้การเดินรถในปัจจุบันอาจจะลดลงจึงจำเป็นต้องหารายได้ส่วนอื่นเข้ามาเสริม เช่น รายได้จากการจัดส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ เป็นต้น”

พิมพ์ อีเมล