ข่าว/บทความรถโดยสาร

WHO ยกไทยติด 1 ใน 15 เฝ้าระวังบาดเจ็บจากจราจร

 สธ.เผยระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากจราจร ของไทย เป็น 1 ใน 15 ประเทศแรกในโลก ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ เนื่องจากบอกสาเหตุปัญหาความรุนแรงตรงจุด ใช้เป็นต้นแบบให้หลายประเทศ ในปีนี้เตรียมพัฒนาระบบให้แข็งแกร่ง เชื่อมต่อกับระบบจีไอเอส หาตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุรวดเร็วขึ้น
      
        นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์อุบัติเหตุจราจรทั่วโลกขณะนี้มีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนปีละ 1.2 ล้านราย เฉลี่ยวันละกว่า 3,000 ราย บาดเจ็บหรือพิการปีละ 50 ล้านราย กว่าร้อยละ 90 เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า ในส่วนของไทยพบว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 3 ของปัญหาสาธารณสุขของประเทศมาโดยตลอด มีแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องด้วย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 ราย เฉลี่ยวันละ 35 ราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย โดยพ.ศ.2553-2563 องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งใน 10 ปีข้างหน้า
       
       สำหรับประเทศไทย ในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งการไม่สวมหมวกกันน็อก การดื่มสุรา โดยจะขยายศูนย์กู้ชีพลงสู่ระดับองค์การบริหารส่วนตำบลให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยกระดับงานวิจัยเพื่อการรักษาและฟื้นฟูสภาพของผู้บาดเจ็บจาก อุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นายมานิตกล่าว
       
       ทางด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเฝ้าระวังสถานการณ์การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรของไทย กระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury surveillance) มาใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2538 นับเป็นระบบฐานข้อมูล 1 ใน 15 ประเทศแรกของโลก ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ และสนับสนุนให้เป็นต้นแบบนำไปเผยแพร่ใช้ในประเทศต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาอุบัติเหตุจราจร
       
       ทั้งนี้ ระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บดังกล่าวของไทยมีความโดดเด่นโดยสามารถบอกความ รุนแรงของปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ รวมทั้งบอกสาเหตุการเกิด ประเภทรถ พฤติกรรมของกลุ่มอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติจราจรได้ทันท่วงที เป็นระบบข้อมูลเดียวของประเทศที่ใช้ติดตามพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ การใช้หมวกกันน็อก เข็มขัดนิรภัย การใช้โทรศัพท์มือถือของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางนโยบาย ออกกฎหมายควบคุมป้องกันปัญหาของประเทศได้ตรงจุด เช่น การสวมหมวกกันน็อก การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด พัฒนาหน่วยแพทย์ฉุกเฉินรักษาพยาบาลที่จุดเกิดเหตุ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิตและพิการ
       
       ใน ปี 2553 นี้ มีแผนจะพัฒนาระบบข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเชื่อมระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติกับทะเบียนผู้บาดเจ็บ โดยเพิ่มเลขบัตรประชาชน 13 หลักเข้าไปอีก เพื่อเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานอื่น การรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยทางถนนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และเชื่อมระบบการเฝ้าระวังกับระบบจีไอเอสหรือสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อหาตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ต่างๆ และจะขยายระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งภายใน พ.ศ.2556 ขณะนี้มีจังหวัดที่เป็นเครือข่ายระบบเฝ้าระวังจำนวน 31 แห่ง ใน 33 โรงพยาบาล เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของแต่ละจังหวัดได้ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
      

พิมพ์ อีเมล