ข่าว/บทความรถโดยสาร

เตือนวินจักรยานยนต์ ไม่ติดราคา - ผิด

           

ขนส่งฯ เตือนวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่วประเทศ ต้องแสดงอัตราค่าโดยสาร และติดประกาศที่วิน พร้อมประสานงานตำรวจและเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดหากฝ่าฝืนเก็บค่าโดยสารเกินราคามีโทษหนัก กทม.เผยมีผู้ร้องเรียนเรื่องจอดรถกีดขวางทางเท้ามากที่สุด
          นายชัยรัตน์  สงวนชื่อ  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์สาธารณะจดทะเบียนอยู่ทั่วประเทศ   จำนวน  181,797  คัน  แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร  85,272  คัน ต่างจังหวัด 96,525 คัน ซึ่งที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนจากประชาชน  ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ  1584 ถึงความไม่เป็นธรรมในการใช้บริการ  โดยเฉพาะการเก็บค่าโดยสารที่ไม่ชัดเจนแน่นอน  จึงได้ประสานงานไปยังคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการประจำจังหวัด   และคณะกรรมการประจำท้องที่  ซึ่งเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ  ในการควบคุมดูแลค่าโดยสารเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม

          ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์สาธารณะ  ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางของประชาชน  ซึ่งอัตราค่าโดยสารกำหนดโดยคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการประจำจังหวัด และคณะกรรมการประจำท้องที่  โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ ปริมาณผู้โดยสาร  รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมภายในพื้นที่  เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้โดยสารและ ผู้ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ

          นายชัยรัตน์ กล่าวว่า  กรมการขนส่งทางบกได้ประสานงานไปยังหน่วยงานดังกล่าว ควบคุมดูแลให้ทุกวินรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องจัดทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารอย่างเป็นมาตรฐาน  และติดประกาศให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน  พร้อมทั้งนำไปติดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอที่วินตั้งอยู่  รวมทั้งได้กำชับให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ควบคุมการให้บริการของรถจักรยานยนต์สาธารณะ  และประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันจับกุมผู้เก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่กำหนดอย่างเคร่งครัด    ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์  พ.ศ.2522 มาตรา 66/5 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

          "ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ  หรือรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท   สามารถร้องเรียนหรือแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ  หมายเลข 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานการขนส่งสาธารณะของประเทศ" อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าว

          นายจุมพล  สำเภาพล  ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง  กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  ปัจจุบันจำนวนวินรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จดทะเบียนในเขต กทม.มีทั้งหมด  4,524 วิน  มีผู้ขึ้นทะเบียนประมาณ  110,000 คน ในการควบคุมอัตราค่าโดยสารรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  กำหนดไว้ที่  2 กิโลเมตรแรกเก็บได้ไม่เกิน 25 บาท ต่อไปกิโลเมตรละ 5 บาท  หากเกิน   5 กิโลเมตร ให้ตกลงราคากันเองระหว่างผู้โดยสารกับผู้ขับขี่ ทั้งนี้ ทาง กทม.ได้กำชับให้ผู้อำนวยการทุกสำนักงานเขตเข้าไปควบคุมดูแล และติดป้ายบอกอัตราค่าโดยสารอย่างชัดเจน

          "ปัญหาเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ผู้ร้องเรียนมากที่สุดอันดับ 1 คือ จอดรถทางเท้าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย  กีดขวางการจราจร  2.ขึ้นราคาค่าโดยสารไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ 3.เสียงรถดังหรือรบกวนประชาชน" นายจุมพลระบุ

          ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง  กทม.บอกว่า  กรณีปัญหาวินรถมอเตอร์ไซค์จอดรถกีดขวางหรือเกะกะทางเท้านั้น  เกิดขึ้นจากผู้ขับขี่ไม่เข้าไปจอดรถในซอยให้เป็นระเบียบ เพราะเกรงว่าประชาชนจะใช้บริการไม่สะดวก  ดังนั้น จึงต้องพยายามหาทางให้วินรถมอเตอร์ไซค์ที่ตั้งอยู่บริเวณปากซอยแคบๆ  ช่วยกันขยับรถเข้าไปด้านใน เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ใช้ถนนร่วมกันเกิดความเดือดร้อน  ส่วนปัญหาอื่นๆ ไม่พบ  เพราะผู้ประกอบอาชีพนี้เป็นคนที่ประชาชนผู้ใช้บริการรู้จักหน้าตาและคุ้นเคยกันดี และที่สำคัญยังคอยช่วยตรวจสอบหรือเป็นหูเป็นตาสอดส่องสิ่งผิดปกติ และแจ้งข้อมูลเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย

          ด้าน พล.ต.ต.ภาณุ   เกิดลาภผล  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  รับผิดชอบงานด้านการจราจร  กล่าวว่า  ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะจะกระทำผิดกฎหมาย จอดรถกีดขวางการจราจรในบริเวณถนนทางเข้าชุมชน  ในการควบคุมดูแลให้เกิดความระเบียบเรียบร้อย เป็นหน้าที่ของแต่ละสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ  ที่ผ่านมาไม่พบการก่ออาชญากรรม เนื่องจากผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องผ่านการจดทะเบียน  ทำให้สามารถตรวจสอบชื่อและที่อยู่ได้  อีกทั้งยังผ่านการฝึกอบรมให้เป็นสายตรวจอาสาสมัครจับโจร  บางวินที่อยู่ตามตรอก ซอกซอย หรือจุดอับ ก็จะมาช่วยโบกรถอีกด้วย

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

 

พิมพ์ อีเมล