ข่าว/บทความรถโดยสาร

พ.ร.บ.รถ จะจบอย่างไร

หลายวันก่อนได้มีโอกาสไปร่วมฟังการเสวนาเรื่อง  "ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ : เข้มแข็งเพียงพอหรือยัง"  ณ  ห้องประชุมป๋วย  อึ๊งภากรณ์  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  หรือ  สศค.  ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสัมมนา  สศค.ฟอรั่ม



     แม้วันนั้นจะไม่มีเหตุการณ์ปะทะคารมกันอย่างรุนแรงของทั้ง   2  ฝ่ายบนเวที  แต่ทำให้ได้รู้ว่าทำไมที่ผ่านมาจึงมีปัญหา  พูดจาไปคนละทิศละทาง  ก็เพราะว่าข้อมูลที่แต่ละฝ่ายยกขึ้นมาอ้างมาจากคนละพื้นฐาน  คนละแหล่งที่มา

     2  ฝ่ายที่ว่านี้  ฝ่ายแรก  นักวิชาการเอ็นจีโอ  นำโดย  นายอัมมาร์  สยามวาลา  นักวิชาการเกียรติคุณ   สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  หรือ  TDRI  และ  น.ส.สารี  อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ที่มีตัวแทนแพทย์จากบางโรงพยาบาลบางแห่งเป็นกองหนุน  ขณะที่อีกฝ่าย  มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  หรือ คปภ.  ตัวแทนสมาคมประกันวินาศภัย  และตัวแทนบริษัท  กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  จำกัด

     หลังจบสัมมนาทุกคนต่างพากันโล่งใจที่เหตุการณ์ราบรื่น

     สืบเนื่องจากกรรมาธิการการสาธารณสุข  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  หรือ  สนช.  ที่มีนายอัมมาร์เป็นสมาชิกก่อนหน้านี้  มีความเห็นตรงกันว่า  ควรจะยกเลิก  พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยบจากรถ   พ.ศ.2535  และให้ยกร่าง  พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ  พ.ศ.....  แทน  โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายเดิมเก่า  ล้าสมัย  และที่สำคัญมี  "ค่าใช้จ่ายสูง"

     ค่าใช้จ่ายที่มีการหยิบยกขึ้นมาอ้างในการสัมมนาแต่ละครั้งคือว่า  ตามกฎหมายเดิมในเบี้ยประกันภัยที่มีปีละ  10,000  ล้านบาท  จะถูกบวกเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันภัยซะ  4,785  ล้านบาท  ขณะที่เงินสำหรับจ่ายสินไหมทดแทนมีเพียง  4,534  ล้านบาทเท่านั้น

     อีกทั้งการยื่นขอสินไหมทดแทนยังยุ่งยาก  มากเรื่อง  หลายขั้นตอน  ซ้ำซ้อน  ฯลฯ  แต่หากมีกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการหยิบยกตุ๊กตาขึ้นมาว่าให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้บริหารเงินกองทุน  จะทำให้ต้นทุนลดจากเฉลี่ย  38%  เหลือประมาณ  6%

     ขณะที่  น.ส.สารีระบุว่า  ขณะนี้มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.)  แล้ว   พ.ร.บ.รถภาคบังคับจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  เพราะพบว่าประชาชนหันไปใช้สิทธิจาก   สปสช.แทนกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

     ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพยายามหยิบยกส่วนเสียของ  พ.ร.บ.รถฉบับเดิมมาโจมตีว่าไม่ดีอย่างนั้น   ไม่ดีอย่างนี้  พร้อมทั้งพูดถึงข้อดีสารพัดของกองทุน  สปสช.  อีกทั้งยังนำตัวผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยจากรถจักรยานยนต์คว่ำ   แต่ยังไม่ได้รับสินไหมมาโชว์ตัวอีกด้วย  แต่ถ้าให้แฟร์น่าจะนำผู้เอาประสบภัยที่ได้รับเงินสินไหมทดแทนมาบอกกับสังคมด้วยว่า  พ.ร.บ.รถก็มีส่วนดี  ไม่ใช่มีแต่ส่วนไม่ดี

     แต่ข้อมูลของนายสมพร   สืบถวิลกุล  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท  กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  ที่ยกขึ้นมาชี้ให้เวทีสัมมนาเห็นน่าสนใจไม่น้อย

     นายสมพรระบุว่า   พ.ร.บ.รถฉบับเดิมได้มีการปรับลดเบี้ยประกันภัยทุก  3  ปี  จากปี   2535   สำหรับรถเก๋งเก็บ   1,200  บาท  เหลือ  600  บาทในปี  2551  หรือลดลง  50%    ขณะที่ความคุ้มครองสูงสุดต่อคนเพิ่มจาก   50,000   บาท  เป็น  100,000  บาท  หรือ  50%  ขณะที่การชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นเพิ่มจาก  10,000  บาท  มาอยู่ที่  50,000   บาท

     ขณะที่กองทุน  สปสช.เฉลี่ยมีค่าใช้จ่าย  1,202  บาทต่อคน  และปัจจุบันเพิ่มเป็น  2,202  บาทต่อคน  หรือเกือบ  50%  และงบประมาณเพิ่มจากปีละ  5.5  หมื่นล้านบาท  มาอยู่ที่  1.02  แสนล้านบาทในปัจจุบัน  ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก  จาก  45  ล้านคน  มาอยู่ที่  46  ล้านคน

     ด้านนายชูฉัตร  ประมูลผล  ผู้อำนวยการอาวุโส  สำนักงาน  คปภ.  กล่าวว่า  พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะเป็นปัญหากว่าฉบับเดิม  เช่น  กรณีให้กรมบัญชีกลางเข้ามาบริหารกองทุนฯ  จะเป็นปัญหาต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ

     ส่วนกรณีการขอเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลจาก  50,000  บาท  เป็น  150,000  บาท   หรือกรณีการขอเพิ่มความคุ้มครองสูงสุดจาก  100,000  บาท  เป็น  500,000  บาท   จะทำให้อัตราส่วนการขอสินไหมทดแทน   หรือ  Loss  Ratio  จากปัจจุบันเพิ่มจาก  62%   เป็น  84-94%  เลยทีเดียว

     การสัมมนาวันนั้นยังไม่มีข้อสรุปว่าต้องเลิกใช้  พ.ร.บ.รถฉบับเดิม  หรือต้องยกร่าง  พ.ร.บ.ฉบับใหม่ขึ้น  ขณะที่  สศค.ซึ่งเป็นคนกลางจะเร่งสรุปข้อมูลจากทุกฝ่ายเสนอต่อ  รมว.คลังตัดสินใจ

     แต่ไม่ว่ากฎหมายฉบับไหน  จะต้องยึดผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเป็นที่ตั้ง  เบี้ยต้องไม่แพง  แต่ความคุ้มครองที่ได้รับจะต้องสมเหตุสมผล  ที่สำคัญต้องเป็นธรรมทั้งบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัย

     ถ้าทุกฝ่ายยึดหลักนี้ตรงกัน  ปัญหาก็จบ!!.

นสพ.ไทยโพสต์ 3 / 9 / 52

พิมพ์ อีเมล