ข่าว/บทความรถโดยสาร

ผู้บริโภคภาคใต้ เรียกร้องคุ้มครองผู้โดยสาร แก้ปัญหาทัวร์มรณะซ้ำซาก..

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เรียกร้องหน่วยงานกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะเร่งติดตั้ง GPS เพื่อจำกัดความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ และเคร่งครัดการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาทัวร์มรณะซ้ำซาก

 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 หลังการประชุมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ประจำปี 2555 ณ โรงแรมวีแอล หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค พบว่าเกิดกรณีเร่งด่วนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ จากกรณีรถทัวร์สายกรุงเทพฯ-เกาะพงันเลขทะเบียน 15-2202 กรุงเทพฯของบริษัทขนส่ง จำกัด ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 3 กค.55 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 11 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 16 ราย ทั้งคนไทยและต่างชาติจากความประมาทขับรถเร็ว  เครือข่ายฯจึงได้ร่วมกันแถลงการณ์เรียกร้องหน่วยงานกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะเร่งติดตั้ง GPS เพื่อจำกัดความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ  รวมถึงเคร่งครัดและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดเข็มขัดนิรภัย

เบื้องต้นโครงการบริโภคสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิที่ผู้เสียหายทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตต้องได้รับการคุ้มครองทั้งเงินชดเชยเยียวยาจากบขส.และเอกชนที่รับประกันภัยรวมถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิ ขณะนี้มีญาติของผู้เสียชีวิต ได้ประสานขอคำปรึกษามายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ราย

โดยรายละเอียดการประชุมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้เพื่อทำแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ประจำปี 2555 ณ โรงแรมวีแอล หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการพูดถึงสถานการณ์ผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ เช่นประเด็นโทรคมนาคมกรณีจอดำ ,การกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงิน,การกลับมาเก็บ 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ,โฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในวิทยุ ทีวี เคเบิ้ล ,และประเด็นสำคัญเร่งด่วนคือการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะซ้ำซากโดยเฉพาะในสายเพชรเกษม 41 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของภาคใต้ ทั้งโดยสภาพถนนรวมถึง สาเหตุจากเรื่องเดิมๆ คือเรื่องของ ปัญหาของคุณภาพมาตรฐาน ความมั่นคงแข็งแรงของรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยของ และความคึกคะนองของคนขับที่ขับเร็วเกินจากที่กฎหมายกำหนด โดยมีข้อมูล

ซึ่งนางสาวสิรินนา เพชรรัตน์  ผู้ประสานงานโครงการบริโภคสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี ให้ข้อมูลในเวทีดังนี้ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการแจ้งสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสายกรุงเทพฯ – เกาะพงัน  และข้อควรคำนึงถึงขั้นตอนรับค่าเสียหาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลสิทธิของตนเองในฐานะผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนข้อควรระวังในการรับเงินสินไหมทดแทนและช่องทางในการร้องเรียน กรณีไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิหรือการชดเชยความเสียหายจากอุบัติเหตุดังกล่าวแล้ว

นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับ ศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) โดยจะประสานงานกับทีม สืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุ เพื่อสอบถามรายละเอียด การนัดกันลงพื้นที่ และขอข้อมูลหลังเหตุเพื่อใช้วิเคราะห์สาเหตุร่วมกันต่อไป

จากนั้น ภญ.ชโลม เกตุจินดา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ได้อ่านข้อเรียกร้องซึ่งเป็นข้อเสนอจากการทำงานร่วมกันของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้บริษัทขนส่ง จำกัด เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะ ดังนี้

-          ให้มีการดำเนินการติดตั้ง GPS เพื่อจำกัดความเร็วของรถโดยสารสาธารณะทั้งที่เป็นของบริษัทขนส่ง และรถร่วมบริการที่เป็นของเอกชน และผู้โดยสารสามารถเห็นอัตราความเร็วจากจอมอนิเตอร์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสากลที่หลายประเทศบังคับใช้

-          ให้มีมาตรการที่เคร่งครัดและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสาร เช่น การประกอบรถที่ได้มาตรฐาน แข็งแรง มั่นคง มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและสามารถใช้ได้จริง มีการตรวจสภาพรถโดยสารอย่างสม่ำเสมอ

-          ให้พนักงานรถโดยสารมีการแนะนำให้ผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทางเพื่อลดความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ และควรเข้มงวดต่อพนักงานขับรถเรื่องความพร้อมทางร่างกายและจิตใจตามที่กฎหมายกำหนด

ต่อจากนี้ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้จะได้มีการดำเนินงานในการเฝ้าระวังและติดตามการให้บริการรถโดยสารที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีการจัดเวทีพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการป้องกันเพื่อให้ผู้บริโภคใช้รถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย

{xtypo_quote}ข้อมูลการชดเชยต่อผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย 700,000 บาทส่วนผู้บาดเจ็บ จะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535  และประกันภัยประเภทที่ 3 ที่ บขส. ได้ทำให้กับผู้โดยสารของ บขส.ทุกคน หากผู้ประสบเหตุและญาติ มีข้อสงสัยหรือโดนละเมิดสิทธิชดเชยค่าสินไหมทดแทน สามารถขอคำปรึกษา โดยศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจ.สุราษฎร์ธานีจะช่วยเหลือ ดำเนินการเรียกร้องตามสิทธิ ติดต่อได้ที่ นางสาวสิรินนาเพชรรัตน์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจ.สุราษฎร์ธานี 081-7371160 และ นางสาวจุฑา สังขชาติ  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้089-7342298 ...{/xtypo_quote}

พิมพ์ อีเมล