เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน จัดแถลงข่าวสถานการณ์การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ปี 2554 พบปัญหาการใช้สิทธิจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มาอันดับหนึ่งเรื่องการจ่ายค่าสินไหม วอนรัฐบาลผลักดินองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเร็ว
23 ธ.ค. โรงแรมแก่นอินทร์ จ.ขอนแก่น เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์และสกลนคร มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในการรับเรื่องร้องเรียน ประสานงานแก้ไขปัญหา รณรงค์เผยแพร่ ผลักดันในระดับนโยบาย รวมถึงศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนใน 15 จังหวัดภาคอีสาน ในช่วงการทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 – ธันวาคม 2554
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิผู้บริโภคภาคอีสาน พบ 7กรณีปัญหาคือ
1.กรณีปัญหาการใช้สิทธิจาก พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.๒๕๓๕ มีการรับร้องเรียนจาก ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน จำนวน ๑๙๐ กรณี พบว่า บริษัทประกันไม่อยากจ่ายค่าสินไหมทดแทน , ประวิงเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ,จ่ายค่าสินไหมให้น้อยที่สุด , มีการเรียกเอกสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่นสำเนาใบขับขี่ รายงานการสอบสวนคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ , ทำให้เสียเวลาในการติดต่อ สร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้บริการ ทำให้ประชาชนไม่อยากไปใช้สิทธิ เช่นการเบิกค่ารักษาพยาบาล การเบิกค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น
2. กรณีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่โอ้อวด หลอกลวง เป็นเท็จ กับผู้บริโภค โดยนางอาภรณ์ อะทาโส ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนในภาคอีสานทั้งสิ้น ๙๕ กรณี เช่น เครื่องสำอาง ยาลดความอ้วน ยารักษาสารพัดโรค การโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ทางสถานีวิทยุชุมชน มีการเก็บคลิปเสียงโฆษณาในวิทยุหรือการเก็บภาพป้ายโฆษณาและมีการจัดทำแผนที่ตำแหน่งป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ส่งให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ค่อนข้างล่าช้าหรือแทบจะไม่มีการดำเนินการใดๆเลย แม้ว่า อย.จะมีการทำจดหมายเวียนไปยังนายแพทย์สาธารณสุขให้ดำเนินการเก็บป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนเป็นอาหารควบคุมเฉพาะและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดมาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนให้เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่จำหน่ายในราชอาณาจักรมีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมได้ในปริมาณไม่เกิน ๕๐ มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ นอกจากนี้ อย.ยังได้มีมาตรการในการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๑ แห่ง พรบ.อาหาร พศ.๒๕๒๒ ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ อาทิ เช่นการโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ต้องไม่โฆษณาในลักษณะการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคหรือมีการให้ของแถม การโฆษณาตามสื่อต่างๆ ต้องมีคำเตือน “ ไม่ควรดื่มเกินวันละ ๒ ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ” และการโฆษณาที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค เพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศลถือเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายเชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน โดยทางตรงหรือทางอ้อมจะโฆษณาไม่ได้
3. การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด รถที่วิ่งภายในจังหวัดและรถที่วิ่งจากกรุงเทพฯ(หมอชิต)ไปจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน โดยนางสาวเอมอร กลิ่นหอม เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสกลนคร พบว่ามีกรณีปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียน ในภาคอีสาน จำนวน ๙๐ กรณี เช่น รับส่งผู้โดยสารไม่ตรงป้าย , จำนวนรถโดยสารมีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ,รถโดยสารระยะสั้น จอดบ่อย (รอผู้โดยสาร) ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง ,ห้องสุขามีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ,พนักงานบนรถลวนลามผู้โดยสาร ,พนักงานแต่งตัวไม่สุภาพและพูดจาไม่สุภาพ ,พนักงานขับรถขับรถเร็ว ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร ,รถออกไม่ตรงตามเวลา และเวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ได้รับการดูแลจากบริษัทรถ บริษัทประกัน
4. กรณีปัญหาจากใช้บริการโทรคมนาคม รวมกรณีร้องเรียน ๘๐ กรณี โดยนางประคำ ศรีสมชัย เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่าปัญหาเรื่องนี้ เป็นกรณีการใช้โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เช่นโทรไม่ติดแล้วถูกคิดเงิน , เอสเอ็มเอสรบกวน , การตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้ชุมชน โดยไม่มีการประชาพิจารณ์คนในชุมชน ทำให้ประชาชนหวาดกลัว เรื่องฟ้าผ่า คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่อาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
5.กรณีปัญหาอาหารที่หมดอายุยังมีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป มีกรณีร้องเรียน ๕๐ กรณี โดยนายเทพรักษ์ บุญรักษา เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าที่ผ่านมาองค์กรผู้บริโภคได้สำรวจสินค้าต่างๆ ในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า พบอาหารที่หมดอายุมีวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางองค์กรผู้บริโภคได้ส่งเรื่องให้ผู้ประกอบการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เข้มงวดในเรื่องนี้ โดยทางผู้ประกอบการบางรายยอมรับว่ายังมีสินค้าหมดอายุจำหน่ายในชั้นวางสินค้า และขอบคุณเครือข่ายผู้บริโภคที่เฝ้าระวังในเรื่องนี้
6. การใช้บริการสาธารณะสุข มีกรณีร้องเรียน จำนวน ๒๐ กรณี โดยนางสาวสายอรุณ แก้วมุงคุณ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสกลนครเปิดเผยถึงกรณีร้องเรียน การไปใช้บริการโรงพยาบาลแล้วได้รับความเสียหาย เช่น ไปคลอดลูก แพทย์วินิจฉัยว่าลูกเสียชีวิตให้นำศพกลับบ้าน พอกลับบ้านปรากฏว่าทารกยังดิ้นอยู่ , กรณีผู้ใช้สิทธิจากประกันสังคมแพทย์วินิจฉัยผิดพลาดแล้วไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เป็นภาระของผู้ใช้บริการที่จะต้องดำเนินการเรียกร้องความเสียหาย
7.ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ในการซื้อบ้านเอื้ออาทร ถูกยกเลิกสัญญาโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และสัญญาไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้นายปฏิวัติ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานว่ามีการประสานงานแก้ไขปัญหาบางกรณีสามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ บางกรณีต้องแก้ไขในระดับนโยบายรวมถึงการเสนอกฎหมายฉบับใหม่เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นที่นับวันจะมีความสลับซับซ้อนและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงาน ทั้งระดับพื้นที่ ประเทศ ดังนี้
1.ให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา ๖๑ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งจะมีบทบาทในการให้ความเห็นต่อหน่วยงาน , ติดตาม ตรวจสอบ หรือละเลยการกระทำและการบังคับใช้กฎหมายดูแลปัญหาผู้บริโภคทุกด้าน และการสนับสนุนการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงการยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งในปี ๒๕๕๕ ที่จะมาถึงนี้รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็ว เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้บริโภคคนไทยทุกคน
2. ให้มีการพิจารณาร่าง พรบ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พศ….ที่ภาคประชาชนเสนอโดยการรวบรวมรายชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อมาบังคับใช้แทน พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาการดำเนินงาน ทำให้ผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายนี้มีน้อย ,เป็น กม.ภาคบังคับ ดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยเอกชนที่เน้นผลกำไรทางธุรกิจ มากกว่าการเยียวยาเชิงมนุษยธรรม ,มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูง ไม่มีประสิทธิภาพ ,ใช้ระยะเวลานานเพื่อรอพิสูจน์ถูกผิด บ่ายเบี่ยง เกี่ยงงอน , ความล้าหลังของกฎหมาย เกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิรักษาพยาบาล
- หลักการของ(ร่าง) พรบ.กองทุนสินไหมทดแทนฯ ยกเลิกภาระของประชาชนในการรักษาพยาบาล โดยใช้สิทธิตามระบบบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
- เข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยสะดวกการเก็บเบี้ยประกันเงินตามพ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถร่วมกับการต่อทะเบียนรถยนต์
- ทบทวนอัตราการเรียกเก็บเบี้ยประกันรถยนต์และการชดเชยสินไหมแก่ผู้ประสบภัยจากรถทุกปี
- งบประมาณในการบริหารจัดการกองทุนไม่เกิน 3-5 เปอร์เซ็นต์
- สำนักงานที่มีความเป็นอิสระคล่องตัวมีคณะกรรมการนโยบายกองทุนที่มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลากหลาย3. บริการรถโดยสารสาธารณะ มีข้อเสนอดังนี้
- ให้รถหมวดเดียวกัน มีมาตรฐานในการให้บริการเหมือนกัน
- ให้ความรู้ประชาชนเรื่องสิทธิของผู้บริโภคในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
- จัดรถให้เพียงพอต่อความต้องการในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น เวลาเลิกงาน เวลาโรงเรียนเลิก เป็นต้น
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
- มีมาตรการในการช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ เช่น กองทุนชดเชยผู้เสียหายจากการใช้บริการรถโดยสาสาธารณะ
- เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพของรถที่ให้บริการให้มีสภาพปลอดภัยพร้อมใช้งาน
- ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต ควรมีรถเป็นของตนเอง
4.ในด้านบริการสาธารณสุข ให้นำร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ที่จะมาดูแลทุกสิทธิ ทุกระบบ ซึ่งมีหลักการคือการลดความขัดแย้ง การฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ ,การเยียวยาความเสียหายโดยเร็วและการพัฒนาระบบป้องกันความปลอดภัยมิให้เกิดขึ้นอีก และกรณีการเก็บ สามสิบบาท ในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ควรเก็บ เพราะจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยทุกคนที่จะเข้าถึงบริการสาธารณสุข และขอให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดราคากลางค่าบริการสุขภาพ เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันทุกระบบ โดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่นำไปสู่การล้มละลายของระบบ อันเนื่องมาจากค่าบริการที่สูงอย่างไม่สมเหตุผล
5.ในเรื่องการโฆษณาอาหาร เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายโดยเด็ดขาด กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาปฏิบัติตามคำสั่งของ อย.อย่างเคร่งครัด หากยังมีการละเมิดให้มีการลงโทษตามกฎหมายโดยทันที
หากมีการโฆษณาผ่านทางกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง เช่น ติดตามตรวจสอบการกระทำผิดด้านการโฆษณาในสื่อที่เกี่ยวข้อง หากพบให้มีคำสั่งระงับการดำเนินการนั้นทันที เช่น ปิดรายการ ปิดสถานี และหากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ให้ กสทช. ใช้อำนาจปรับทางปกครองไม่เกินห้าล้านบาทและปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
{gallery}001-consumers_net/541223_konkan{/gallery}