ข่าว/บทความรถโดยสาร

หนุนองค์การอิสระผู้บริโภคสร้างมาตรฐานปลอดภัยรถโดยสารได้

ผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชน หนุน พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างมาตรฐานปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะได้

25 ส.ค. ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เครือข่ายผู้บริโภค นำโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายภาคประชาชนยื่นข้อเสนอ มาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะ ต่อนายกรัฐมนตรี โดยแนะให้ เสริมสร้างพลังผู้บริโภค ด้วยการ สนับสนุน พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามเจตนารมย์แห่ง รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ในมาตรา 61 เพื่อทำหน้าที่ในการให้ความเห็นต่อนโยบาย  กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบ การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค

พร้อมสนับสนุนการจัดระบบบริการรถสาธารณะให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย อาทิ การเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะให้มีรูปแบบบริการที่สะดวก รวดเร็ว  การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ และการปฏิรูประบบการให้ใบอนุญาต เป็นแบบที่ให้มีการแข่งขันมากกว่าการให้ใบอนุญาตแบบผูกขาด

ผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลข้อ 4.5.6 “ที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร ให้เหลือน้อยที่สุด”  ให้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านงบประมาณ การติดตามกำกับดูแล และประเมินผล อย่างจริงจัง

โดยงานนี้จัดขึ้นโดยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

อนึ่งจากปี 2552 ประเทศไทยประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน จำนวน 10,717 คน ถัดมาปี 2553 มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 10,644 คน ลดลงจากปี 2552 เพียงแค่ 73 คน แม้จะมีการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือมีการตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนขึ้นมาแล้วก็ตาม ในปี 2554 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามประกาศขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่มีเป้าหมายให้แต่ละประเทศลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเวลา 10 ปี ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจร่วมกันของประชาชนทั่วโลกที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างจริงจัง

จากการดำเนินการเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค 5 พื้นที่ 27 จังหวัด พบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงปัจจุบัน อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะที่สื่อมวลชนนำมาเผยแพร่กว่า 500 กรณี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 9,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 714 ราย คิดเป็นร้อยละ7.69 และผู้บาดเจ็บ 8,575 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.31 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สำหรับประเด็นการเยียวยาความเสียหายนั้น พบว่ามีคดีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 124 คดี ร้อยละ 91.13 สาเหตุมาจากพนักงานขับรถ ที่ขาดความชำนาญในเส้นทาง ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะขับขี่คนเดียวเป็นเวลานานโดยไม่มีพนักงานสับเปลี่ยน ร้อยละ 4.84 เกิดจากความไม่พร้อมของสภาพรถโดยสาร และ ร้อยละ 4.03 เกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่นถนน ทัศนวิสัยไม่เหมาะสม โดยปัญหาส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้โดยใช้การเฝ้าระวังจากผู้โดยสารทั้งก่อนเข้าทำการสัญญา ก่อนซื้อตั๋วโดยสาร ก่อนเดินทาง และระหว่างเดินทาง

ภายใต้กรอบความคิดในเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการฯ 10 ประการ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนงานมุ่งไปสู่การสร้างระบบการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น 3 ระบบคือ ระบบป้องกันและเฝ้าระวัง ระบบร้องเรียน และระบบการชดเชยเยียวยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นระบบได้มากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวเครือข่ายภาคประชาชนจึงขอยื่นข้อเสนอกับทางรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

สาระสำคัญของ (ร่าง)พรบ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ พ.ศ...........

 

(ร่าง)พรบ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ พ.ศ...........ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๑ ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓ วาระในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ โดยมีมติเห็นชอบให้ส่งต่อไปยังวุฒิสภา แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ จึงทำให้การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งภายใน ๖๐ วันหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้ 

 

ทั้งนี้ องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามร่างกฎหมายฉบับนี้  มีบทบาทสำคัญ  ดังนี้

๑.      ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

๒.      ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร

๓.      ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้

๔.      สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

๕.      ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคซึ่งคณะ
กรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย  ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด

๖.      สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

๗.      ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย  รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

๘.      จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล