เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคอีสานเปิดฉากคาราวานผู้บริโภคสัญจร ดัน พรบ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ…ให้รัฐบาลใหม่เคลื่อนต่อ
วันนี้ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่โรงแรมรีเจ้นท์ พาเลซ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานีเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ๑๐ จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา อำนาจเจริญ นครพนม สุรินทร์ มุกดาหาร บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ จำนวน ๗๐ คน จัดเวทีเชื่อมร้อยเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอีสาน เพื่อวางแนวทางในการกำหนดทิศทางแผนการขับเคลื่อน พรบ.กองทุนสินไหมทดแทน ฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเคยผ่านการรวบรวมรายชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเมื่อช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการพิจารณา แต่อย่างใด
นางอาภรณ์ อะทาโส ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด ในฐานะผู้ประสานงานการจัดงานวันนี้ ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องยกเลิก พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื่องจากว่ากฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในเรื่องการครอบคลุมเรื่องการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังถูกพิสูจน์มานานว่าระบบการบริหารจัดการมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ระยะเวลานานเพื่อที่จะรอพิสูจน์ถูกผิด โดยปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นการบริการที่เน้นผลกำไรทางธุรกิจ ไม่มุ่งเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเยียวยาเชิงมนุษยธรรม ทำให้ผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้มีน้อย หรือบางส่วนไม่ทราบว่าต้องใช้สิทธิอย่างไร
“ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิตาม พรบ. รถนั้นมีมานานแล้วแต่ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง จนเป็นปัญหาที่เหมือนภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ สะสมความทุกข์ของผู้ประสบภัยไว้มาก ทั้งตัวผู้ประสบภัยเอง และทายาท เกิดอุบัติเหตุจากรถแต่ละครั้ง กว่าจะใช้สิทธิได้ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ทั้งรายละเอียดเรื่องการจัดเตรียมเอกสาร การติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือตลอดจนความล่าช้าในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหม ความคุ้มครองก็จำกัดขอบเขต คุ้มครองเพียงด้านร่างกาย อนามัย และชีวิตเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงการเสียโอกาสในด้านอื่นเช่น ทรัพย์สิน ค่าเสียโอกาสในการทำมาหาได้ ค่าขาดไร้อุปการะ ซึ่งเป็นความทุกข์ต่อเนื่องหลังจากเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนากฎหมายตัวเดิมให้ทันสมัยมากขึ้นหรือยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไปเลย ในวันนี้ทางเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานจึงรวมกลุ่มกันจัดงานคาราวานเวทีสัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ การตื่นตัวในการร่วมกันผลักดันกฎหมาย พรบ.กองทุนสินไหมทดแทนซึ่งอาจจะเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ดีที่สุด” นางอาภรณ์กล่าว
สำหรับข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมในเวทีวันนี้คือควรจัดตั้งศูนย์ประสานงานที่เป็นของ“ภาคประชาชน” ทำงานครบวงจร ทั้งการตรวจสอบ ติดตาม แก้ไขปัญหา เริ่มจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ อบจ. อบต. และเทศบาลเป็นต้น และเนื่องประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนเพิ่มขึ้น กระจายความรู้สู่ชุมชน ให้มากขึ้น พรบ.ควรเพิ่มวงเงินในความคุ้มครองให้มากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และตามสภาพความเป็นจริง ที่สำคัญต้องตัดขั้นตอนการพิสูจน์ ถูกผิดที่เป็นกระบวนการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อนออกไปจาก พรบ.รถ ด้วย
{gallery}001-consumers_net/540805_consumerskk{/gallery}