นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้ จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมรถบัสเชียงรายคว่ำ 7 ศพ ว่า อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ ตามปกติรถโดยสารขนาดใหญ่ ถือว่ามีความปลอดภัยกว่ารถยนต์ หรือ รถตู้ แต่จากการวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิต มีปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ 1.เก้าอี้หลุดจากที่ยึดเกาะทำให้กระแทกผู้โดยสารอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต 2.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และ 3.พนักงานขับรถไม่ชำนาญทาง และมีคนขับเพียงคนเดียว ซึ่งตามเกณฑ์ความปลอดภัยหากต้องเดินทางไกลเกิน 400 กิโลเมตร ต้องมีพนักงานขับรถเปลี่ยน อีกทั้งควรดูแลองค์ประกอบรถอย่างดีโดยเฉพาะระบบเบรก ล้อ ซึ่งในกรณีนี้มีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วยคือมีการตัดหน้ารถอย่างกระชั้นชิด
“สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถือเป็นองค์กรที่ต้องดูแลการแข่งขันปีละจำนวนมาก ซึ่งโปรแกรมการแข่งขันทั้งไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ไทยลีกดิวิชัน 1,2 ที่มีจำนวนทีมอยู่ต่างจังหวัดกว่า 20 ทีม ซึ่งช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เป็นฤดูการแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกเลกที่สอง ซึ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยตลอดทั้งปีกินเวลาแข่งขันนานกว่า 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม มีการแข่งขันร่วม 200 นัด ต้องมีการเดินทางเพื่อแข่งขันกันตลอดทั้งทีมนักฟุตบอลและกองเชียร์ จึงควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและลดความสูญเสีย ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้แก่องค์กรอื่นๆ เรื่อง “มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง” เพื่อเป็นแบบอย่างให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้น” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอเพื่อลดความสูญเสียต่อทั้งสมาคมฟุตบอล ผู้จัดไทยพรีเมียร์ลีก และผู้รับผิดชอบสโมสรฟุตบอลทุกสโมสร ต้องออกมากำหนดกรอบการดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการวางมาตรฐานคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีพนักงานขับรถ ตัวรถที่ได้มาตรฐาน และอุปกรณ์ความปลอดภัย ตามข้อแนะนำ อาทิ 1.รถที่เช่าต้องได้รับการตรวจสภาพอย่างดี 2.ภายในรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัย ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน ซึ่งผลวิจัยพบว่า เข็มขัดนิรภัยจะรักษาชีวิตได้ 30% 3.หากเดินทางไกลต้องมีพนักงานขับรถ 2 คนผลัดกัน ไม่ขับติดต่อกันนานกว่า 4 ชั่วโมง และ 4.พนักงานขับรถต้องมีประสบการณ์และใบอนุญาตขับรถสาธารณะ โดยวางแผนเส้นทางอย่างดี โดยดูแลทั้งการเดินทางของทีมฟุตบอลและกองเชียร์ด้วย
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ กล่าวว่า การดำเนินการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ประเด็นสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ พบว่า มีคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุในรถโดยสารแบบเช่าทั้งทัศนาจร และรับส่งพนักงาน ยื่นฟ้องต่อศาลเรียกร้องค่าเสียหายถึง 49 คดี จาก 124 คดี คิดเป็น 39.52% ดังนั้น รถโดยสารที่เลือกใช้จึงควรมีความคุ้มครองจากประกันภัยทั้งภาคบังคับและสมัคร ใจ เพื่อคุ้มครองผู้โดยสาร เมื่อเกิดความเสียหายจะสามารถร้องเรียนค่าชดเชย ค่าเยียวยาให้พนักงานขับรถ เจ้าของบริษัทรถโดยสารคันที่เกิดเหตุ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพในกรณีที่เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สินที่นำติดตัวไปในการเดินทาง ขาดโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในการทำงาน ขาดไร้ผู้อุปการะ ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ หรือช่วยดำเนินการด้านคดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737
นายวิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า มาตรการความปลอดภัยของภาครัฐที่นำมาใช้ป้องกันอุบัติเหตุในปัจจุบันถือว่าดี อยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงสโมสรฟุตบอลต่างๆ ยังไม่ได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการจ้างพนักงานขับรถ 2 คนกรณีต้องเดินทางไกลเพราะต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกได้พยายามหามาตรการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิด เหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก โดยเร็วๆ นี้ จะหารือร่วมกับ ศวปถ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางบริษัทยินดีเต็มที่ในการดำเนินการตามคำแนะนำ รวมถึงจะกำชับไปยังทุกสโมสรให้ปฏิบัติตามแนวทางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ อย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของแฟนบอลทุกคน
ข้อมูลจาก นสพ. ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 มิถุนายน 2554