ข่าว/บทความรถโดยสาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลสำรวจ ชี้คน ตวจ.มีความเสี่ยงภัยในบริการรถโดยสารสูง

ผลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่วิ่งในต่างจังหวัดใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ พบคนต่างจังหวัดถึง 73% เคยมีประสบการณ์ระทึกกับบริการรถโดยสารที่ขับเร็ว ขับหวาดเสียว อยากให้ภาคประชาชนในพื้นที่ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและมีหน่วยเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยในบริการรถโดยสารทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด

 

วันนี้ (28 เมษายน 2554) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประจำทางในท้องถิ่นเส้นทางภายในจังหวัดและเส้นทางระหว่างจังหวัด ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประจำทาง ใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วยภาคเหนือ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่  ลำปาง เชียงราย แพร่ เพชรบูรณ์ พิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร ภาคใต้ 5 จังหวัด คือ  สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล สงขลา พัทลุง  ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก รวม 7 จังหวัด คือสระบุรี ตราด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และกาญจนบุรี โดยทำการสำรวจในช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 8 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา


โดยได้สุ่มสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,212 ราย พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่า เคยใช้บริการในรถโดยสารที่มีความเสี่ยงภัยเนื่องจากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขับรถที่ผิดกฎหมายหลายลักษณะคือ 73% เคยพบพนักงานขับรถขับเร็วหรือขับหวาดเสียว 73% เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะมีที่นั่งไม่พอ 54% เคยพบพนักงานขับรถใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่ขับรถโดยไม่ใช้ Small Talk 42% เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางจราจรของรถคันอื่น 38% เคยพบพนักงานขับรถสูบบุหรี่ขณะขับรถ 36% เคยถูกพนักงานประจำรถแสดงกิริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ไม่แสดงความเป็นมิตร 17% เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถ  16% เคยพบพนักงานขับรถ ดื่มสุราหรือมีอาการมึนเมาสุราขณะที่ขับรถให้บริการผู้โดยสาร และเมื่อเกิดปัญหาในการใช้บริการมีเพียง 10% เท่านั้นของผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยใช้สิทธิร้องเรียน

ในส่วนของประสิทธิภาพการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเพียง14% ของกลุ่มตัวอย่างที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพมาก ส่วนใหญ่ 55%เห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง 31% เห็นว่ามีประสิทธิภาพน้อย และ กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม 94% เห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะ โดย 74% เห็นว่าให้ภาคประชาชนจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 64% ต้องการให้จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังและให้มีการรายงานพฤติกรรมของผู้ประกอบการเจ้าของรถ พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บเงิน 54% อยากเห็นประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการกำหนดนโยบายมาตรการที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพรถโดยสาร และ 38% อยากเป็นอาสาสมัครในการร่วมให้เผยแพร่ข้อมูลความรู้ในสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

นายอิฐบูรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นชายร้อยละ 44 เป็นหญิงร้อยละ 56 ช่วงอายุส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 21 – 30 ปี คิดเป็นร้อยละ 30 อายุ 31 – 40 ปี ร้อยละ 21 และอายุ 18 – 20 ปี ร้อยละ18 ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 31 ระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27    ระดับปวส./อนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 15

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 25 อาชีพรับจ้างทั่วไป /ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 14

ประเภทรถโดยสารที่ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นรถทัวร์โดยสารปรับอากาศ ร้อยละ 46  รถเมล์ (ไม่ปรับอากาศ)  ร้อยละ 34 รถตู้ ร้อยละ 31 และเป็นรถสองแถว ร้อยละ 30 ความถี่ในการใช้บริการส่วนใหญ่ใช้บริการเดือนละ  2-3 ครั้งร้อยละ 34 ใช้บริการในช่วงเทศกาล หรือ โอกาสพิเศษ ร้อยละ 26 ใช้บริการสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ร้อยละ 20 ใช้บริการทุกวันหรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 18

พิมพ์ อีเมล