ข่าว/บทความรถโดยสาร

องค์กรผู้บริโภคผนึกกำลังเรียกร้องสิทธิความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระดมข้อเสนอนโยบายความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ 3 ประเด็นหลักต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง หวังมีส่วนร่วมกำกับคุณภาพบริการ เสนอบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัย พร้อมสนับสนุนให้มีกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

 


เมื่อวันที่ 26 เมษายน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมสมัชชาผู้บริโภค “เงินของเรา สิทธิของใคร” (Your Money Your Rights) 10 บาท...เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะต่อผู้ให้บริการและหน่วยงานกำกับดูแล 3 ประเด็น คือ ด้านความปลอดภัย โดยเสนอให้รถโดยสารสาธารณะมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร ในการเดินทางของรถโดยสารติดต่อกัน ทุกๆ 4 ชั่วโมง ต้องมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถ หรือพนักงานขับรถต้องได้หยุดพักเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ก่อนขับรถต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง

 

ด้านการให้ข้อมูลข่าวสารและบริการแก่ผู้ใช้บริการ เสนอให้ผู้ให้บริการมีการประกันเวลาออกเดินทางและถึงจุดหมาย  และจ่ายค่าชดเชยหากผิดสัญญาประกันเวลา ตั๋วโดยสารนอกจากจะมีหมายเลขโทรศัพท์บริษัทที่ให้บริการแล้ว ควรมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อการร้องเรียนต่อบริษัท ขนส่ง จำกัด และกรมการขนส่งทางบกด้วย  ทั้งยังควรมีระบบให้ข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ ต่อผู้โดยสารอีกด้วย


ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ  สนับสนุนให้มีกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเพื่อเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ใช้บริการที่ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มเติมจากความคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยได้รับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยเน้นการเยียวยาที่รวดเร็วและเป็นธรรม นายปฏิวัติ กล่าว


ด้านนายบุญช่วย สกุลวิไลเลิศ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
กล่าวว่า  ปกติ บขส. มีการตรวจสอบความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ โดยสุ่มตรวจคนขับและสภาพรถอยู่แล้ว ส่วนคุณภาพการบริการก็จะตรวจสอบเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน  ดังนั้นผู้บริโภคก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง หากมีปัญหาหรือมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะสามารถแจ้งเข้ามายัง บขส. หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1490 หรือ กรมการขนส่งทางบก หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1584


ส่วนดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะว่า สาเหตุที่ทำให้ระบบรถโดยสารสาธารณะไม่พัฒนา  เนื่องจากลักษณะการให้ใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ที่ทำให้เกิดการทับซ้อนและการแข่งขันของผู้ประกอบการ  แต่การแข่งขันนี้หมายถึงการเพิ่มความถี่ของเที่ยววิ่ง เพื่อให้ได้จำนวนผู้โดยสารมากที่สุด ไม่ใช่การพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านอื่น นโยบายการแก้ปัญหา คือ ภาครัฐควรพัฒนาโครงข่ายการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ 

พิมพ์ อีเมล