มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องบ.เดินรถโคราช 5ราย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องบริษัทเดินรถโดยสารสาธารณะสายโคราช เรียกร้องค่าชดเชยให้ผู้เสียหาย 5 ราย จำนวน 14 ล้าน จากกรณีอุบัติเหตุ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังผู้ประกอบการพยายามประวิงเวลาไกล่เกลี่ยยอมความ กดค่าชดเชย ด้านนักวิชาการ เผยรถโดยสารวิ่งข้ามจังหวัดปัญหาเพียบ
2 มิ.ย. 52 - เมื่อเวลา 10.00 น. ในการแถลงข่าว ไขปริศนาอุบัติเหตุ รถโดยสารมรณะกับความทุกข์ของเหยื่อจนต้องยกขบวนฟ้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของบริษัทเดินรถเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 บริเวณ ถ.มิตรภาพ กม.ที่ 35-36 กลางดง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 50 ราย หลังจากเกิดเหตุจนถึงขณะนี้เป็นเวลานานร่วม 2 เดือนแล้ว ทางบริษัทเดินรถดังกล่าวยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย แถมยังมีความพยายามในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยอมความ พร้อมต่อรองจ่ายค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายจากเหตุการณ์เข้าร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมาจึงได้มีการยื่นฟ้องในคดีผู้บริโภค 5 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,900,681 ล้านบาท โดยรายที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงสุด คือ กรณีของนายธีรเมธ บัวเข้ม ที่บาดเจ็บและภรรยาเสียชีวิตด้วย โดยเรียกค่าเสียหาย 13.3 ล้านบาท
“ที่ผ่านมา ทางบริษัทเดินรถโดยสารสาธารณะรายดังกล่าว พยายามใช้วิธีประวิงเวลาและการเจรจายอมความค่าเสียหายอย่างเข้มข้น โดยกดค่าชดเชย ซึ่งผู้เสียหายบางรายต้องยอมจำนน เนื่องจากในการเจรจาแต่ละครั้งต้องทำต่อหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจ ณ จุดเกิดเหตุ ต้องเสียเวลาและไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งการเจรจาในแต่ละครั้งค่าชดเชยจะต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้เสียหายต้องยอมรับค่าชดเชยที่ถูกเสนอในที่สุด”
นายธีรเมธ บัวเข้ม อายุ 44 ปี ผู้ประสบภัยอุบัติเหตุในเหตุการณ์ กล่าวว่า ตนนั่งหลังคนขับประมาณที่นั่งที่ 6 ซึ่งหลังจากรถขับแซงแล้ว จากนั้นไม่รู้สึกตัวและหมดสติ รู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อได้ยินเสียเจ้าหน้าที่มาเรียกขอให้อยู่เฉยๆ เพราะเกรงว่ากระดูกต้นคอหัก โดยแฟนที่ไปด้วยกันนั่งอยู่ด้านขวาเสียชีวิตทันที ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต้องออกเองทั้งหมด ซึ่งบริษัทเดินรถโดยสารสาธารณะไม่ได้เข้ามาดูแลใดๆ และเห็นว่าน่าจะเข้าดูแลให้ดีกว่านี้ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้เสนอจ่ายเงินชดเชยให้ 200,000 บาท ทั้งตนและแฟนที่เสียชีวิตไป และยังบอกว่าด้วยว่า เงินชดเชยจำนวนนี้เป็นเงินที่มากไป
ด้าน นายวันชัย ปรีชาอมรกุล สามีผู้ประสบภัยจากรถกระบะที่ถูกรถโดยสารสาธารณะวิ่งข้ามถนนมาชน ทำให้ภรรยาและลูกชายได้รับบาดเจ็บ กล่าวว่า ในวันดังกล่าวตนฝากลูกชายและแฟนร่วมเดินทางไปกับรถกระบะของเพื่อน เพื่อไปยัง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งในช่วงเวลา 17.00 น. ได้รับโทรศัพท์จากแฟนบอกว่า เกิดอุบัติเหตุ ตนจึงได้ไปดูที่โรงพยาบาล พบว่าภรรยาซีกโครงหักหลายซีก ขณะที่ลูกชายมีบาดแผลที่ศีรษะและแขน ต้องเย็บแผลหลายเข็ม ซึ่งตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุมาได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทเดินรถโดยสารสาธารณะเพียงแค่ 1,000 บาทเท่านั้น โดยให้เป็นค่าอาหารในระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล และแจ้งว่ากรณีของภรรยาและลูกชายได้เงินค่าชดเชยเต็มที่ 100,000 บาทเท่านั้น ทั้งที่ภรรยายังต้องใช้เวลาในการรักษาตัวต่อเนื่องไปอีก ซ้ำยังยกของหนักไม่ได้ เรียกว่าส่งผลกระทบทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้น ซึ่งตนได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1.2 ล้านบาท
ขณะที่ ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี เครือข่ายนักวิจัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเมื่อวันที่ 27 มี.ค. เกิดจากสภาพยางไม่มีดอกเลย และในวันดังกล่าวมีฝนตก ซึ่งหากเป็นล้อรถที่มีดอกยางจะช่วยรีดน้ำออก ทำให้ล้อถนนสัมผัสผิวถนนยึดเกาะติดได้มากขึ้น ประกอบกันเส้นทางเป็นช่วงลงเขา แต่ผู้ขับขี่กลับใช้เกียร์สูง แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะคนขับ ประกอบกับเบาะที่นั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัย เบาะไม่ได้ถูกยึดติดกับตัวรถ เป็นเหตุให้รถที่วิ่งมาด้วยความเร็ว 80 -100 กม.ต่อ ชม. เมื่อเกิดอุบัติเหตุเบาะจึงหลุดออกมานอกรถ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตจำนวนมาก
“เท่าที่สอบถาม ทางบริษัทแจ้งว่าพนักงานขับรถได้มีการเบิกยางใหม่ไปเปลี่ยนแล้ว แต่คำถามคือทำไมไม่เปลี่ยน และอยากถามว่า รถที่ออกมาขับด้วยสภาพยางเช่นแบบนี้ ทางกรมการขนส่งทางบกปล่อยออกมาได้อย่างไร และจากการติดตามอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่เกิดจากสภาพยางที่ไม่มีคุณภาพทั้งสิ้น”
ผศ.ดร.สมประสงค์ กล่าวว่า มีบริษัทเดินรถโดยสารสาธารณะบางแห่งพยายามลดต้นทุน เป็นเหตุให้รถโดยสารสาธารณะที่ออกมาวิ่งไม่มีความปลอดภัย ประกอบกับตามประกาศกฎกระทรวงคมนาคม ในการกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ กำหนดมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะไว้กว้างมาก โดยระบุแค่ว่า โครงสร้างมั่นคงแข็งแรงเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่า ในขณะที่ภาครัฐมีนโยบายควบคุมรถโดยสาร จึงควรช่วยผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งข้างระหว่างจังหวัด ที่เป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการอุดหนุนงบประมาณเพื่อยกระดับรถโดยสารสาธารณะในประเทศ เช่นเดียวกับที่อุดหนุนรถโดยสารใน กทม. เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น และไม่เป็น 2 มาตรฐาน เช่น การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย การจัดทำระบบตรวจวัดความเร็วรถโดยสาร เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อขึ้นมาดูแลและแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายเบื้องต้น ซึ่งอาจนำมาจากค่าทำเนียมการเดินรถที่ทางกรมการขนส่งจัดเก็บจากบริษัทเดินรถโดยเอกสารเอกชน