banner page

ติดฉลากจีเอ็มโอ ถึงเวลาของอเมริกาแล้ว

sdf 0
ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของมนุษย์มาหลายบทความ จนคนมักเข้าใจว่าผู้เขียนต่อต้านการใช้นวัตกรรมตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

การคัดค้านการใช้ความรู้ทางการตัดแต่งพันธุกรรมในอาหารนั้น มีพื้นฐานมาจากการที่อาหารเหล่านี้ถูกนำเข้าสู่ตลาดของผู้บริโภค โดยมิได้มีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมในการประเมินความปลอดภัย จึงอาจมีปัญหาเกิดขึ้นในลักษณะมีของแถมปนเปื้อนในอาหารที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งมีใครบ้างต้อง
การเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

กินได้ไม่ตายดอก?

หลักการที่ผู้ประกอบการและนักตัดแต่งพันธุกรรมใช้ในการบอกผู้บริโภคว่า อาหารตัดแต่งพันธุกรรม กินได้ไม่ตายดอก คือ Substantial equivalence

จาก Wikipedia ได้กล่าวถึง Substantial equivalence ว่า เป็นการนิยามความปลอดภัยที่ Organization for Economic Co-operation and Development สร้างขึ้นในปี 1993โดยกล่าวเป็นเชิงว่า อาหารที่เป็นอาหารชนิดใหม่ ควรคิดว่าปลอดภัยเมื่ออาหารนั้นมีลักษณะต่างๆ ไม่ต่างกันกับอาหารชนิดเดียวกันที่กินมาแต่ปีมะโว้ (a novel food for example, genetically modified foods should be considered the same as and as safe as a conventional food if it demonstrates the same characteristics and composition as the conventional food.)

จะเห็นว่าหลักการ Substantial equivalence นั้นไม่สนใจว่า อาจมีผลพลอยได้เกิดขึ้น (เช่น โปรตีนที่มนุษย์ไม่รู้จัก) เกินกว่าสิ่งที่ควรมีในผลิตภัณฑ์อาหารตัดแต่งพันธุกรรม หลักการนี้เปรียบเทียบได้กับเวลาที่เราเห็นคนโกนหัวแล้วนุ่งห่มผ้าสีเหลือง สีส้มหรือสีกรัก แล้วเหมารวมว่าเป็น พระ ใส่บาตรได้นั่นเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงวัตรปฏิบัติ

อะไรจึงจะทำให้คนที่คัดค้านอาหารตัดแต่งพันธุกรรมเลิกค้านเสียที ผู้ประกอบการรู้มานานแล้วว่า ผู้คัดค้านนั้นต้องการการตรวจสอบความปลอดภัยที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบจริงจังคือ มีการใช้สัตว์ทดลองแบบครบกระบวนการ

จริงอยู่อาหารที่มนุษย์กินนั้นมีองค์ประกอบหลายชนิด โดยที่ชนิดหลักคือ แป้ง โปรตีน ไขมัน ไวตามินและเกลือแร่ เป็นองค์ประกอบหลักกว่าเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ส่วนน้อยที่เหลือนั้นคงเป็น phytochemical หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า พฤกษเคมี

พฤกษเคมีนี้เป็นกลุ่มสารหลายพันชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ต่างๆ ตามแต่ว่ามันอยู่ในพืชอะไร ตัวอย่างเช่น กลิ่นของกะเพรา สะระแหน่ โป๊ยกั๊ก เป็นต้น กลิ่นเหล่านี้เป็นของผสม สารพวกนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายคน ย่อมออกฤทธิ์ตามชนิดของมันและยังมีปฏิกิริยาต่อกันในลักษณะแสดงผลเป็นผลรวม ซึ่งในกรณีตัวอย่างเครื่องเทศสมุนไพรที่ยกมานั้น มนุษย์ชอบ จึงมีการกินกันมายาวนาน แต่ถ้าการตัดแต่งพันธุกรรมทำให้เกิด สารใหม่ ที่มนุษย์ไม่ชอบ หรือแม้เป็นสารที่มนุษย์ชอบแต่ถ้าบางอย่างมีมากไปก็อันตราย

ท่านผู้อ่านคงไม่ทราบว่า ในพริกไทยและเครื่องเทศต่างๆ มีสารพฤกษเคมีที่ได้รับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า ต้านมะเร็งได้นั้น ที่จริงแล้วสารเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองเมื่อใช้ในปริมาณสูง ปริมาณต่ำๆ ที่ร่างกายเราได้รับตามปรกตินั้น สารก่อมะเร็งธรรมชาตินี้กลับกลายเป็นตัวกระตุ้นการทำลายสารพิษต่างๆ แทน ซึ่งเป็นการลดอันตรายที่เกิดจากสารก่อมะเร็ง

ดังนั้นถ้าการตัดแต่งพันธุกรรมทำให้เกิดสารใหม่ หรือเพิ่มปริมาณสารที่มีอยู่แล้วให้มากกว่าเดิม นักพิษวิทยาไม่สบายใจแน่

วิธีที่ควรใช้ในการพิสูจน์ก็คือ นำอาหารที่ตัดแต่งพันธุกรรมมากำจัดองค์ประกอบหลักออกไป ด้วยวิธีการสกัดทางเคมี ซึ่งไม่ยาก จากนั้นนำส่วนที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่คือ พฤกษเคมี ไปทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองตามวิธีที่ถูกต้อง โดยมีขั้นตอนเป็นกระบวนการที่ทราบกันดีในแวดวงนักพิษวิทยา แต่สิ่งสำคัญคือ มันแพงมาก แต่ก็ไม่แพงเกินกว่าจะทำได้ เพราะยาและสารเจือปนในอาหารนั้นต่างก็ผ่านขั้นตอนการทดสอบที่แพงมากมาแล้วทั้งสิ้น

นอกจากประเด็นอาหารตัดแต่งพันธุกรรมแล้ว ผู้เขียนในฐานะนักชีวเคมี (ก่อนที่จะเป็นนักพิษวิทยา) ยอมรับว่า เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะในการผลิตยาที่สังเคราะห์ทางเคมียาก เช่น อินซูลิน หรือการปรับปรุงพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาใช้ในการทดสอบการก่อกลายพันธุ์ของสารเคมีต่างๆ ซึ่งในห้องปฏิบัติการที่ผู้เขียนดูแลที่สถาบันโภชนาการนั้นก็มีใช้อยู่

ดังนั้นท่านผู้อ่านคงไม่เหมาว่า ผู้เขียนซึ่งไม่เห็นด้วยกับการตัดแต่งพันธุกรรมสิ่งที่เป็นอาหารนั้น เป็นผู้ต่อต้านนวัตกรรมทางการตัดแต่งพันธุกรรมไปทุกเรื่อง

ติดฉลากอาหาร : สิทธิการรับรู้หรือขัดขวางวิทยาศาสตร์?

กลับมาสู่ประเด็นที่ทันสมัยเกี่ยวกับอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ขณะนี้ (เดือนกันยายน 2555) มลรัฐแคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยมีผู้ว่าการรัฐเป็นคนเหล็กคือ อาร์โนลด์ อาลอยส์ ชวาร์เซเนกเกอร์ (ค.ศ. 2003-2011) กำลังมีการต่อสู้ทางความคิดของกลุ่มคนสองฝ่าย แบบว่าใช้เงินกันน่าดู ฝ่ายแรกคือ บริษัทผลิตสินค้าที่เป็นอาหารซึ่งผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ส่วนอีกฝ่ายคือ เกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ซึ่งร่วมหัวจมท้ายกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและองค์กรเอกชน

ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหาเรื่องให้คนกลางอย่าง ผู้บริโภคต้องเวียนหัวคือ Proposition 37 (ซึ่งเป็นรัฐบัญญัติชื่อ “California Right to Know Genetically Engineered Food Act” คนอเมริกันเรียกกันง่ายๆ ว่า Prop 37) ซึ่งกล่าวถึงการ ติดฉลากอาหารที่ตัดแต่งพันธุกรรม และจะมีการลงมติว่าจะรับรัฐบัญญัตินี้หรือไม่ประมาณเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย

ทำไมเรื่องนี้จึงน่าสนใจ ก่อนอื่นท่านผู้อ่านบางท่านอาจไม่ทราบว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศเดี่ยวที่ใครแบ่งแยกไม่ได้เหมือนประเทศไทย การรวมตัวเป็นสหรัฐฯ นั้นมีกฎหมายกลางซึ่งใช้บังคับทั้งประเทศ กฎหมายรัฐที่ใช้บังคับทั้งรัฐ แถมมีกฎหมายท้องถิ่นที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นอีกด้วย ดังนั้นแต่ละรัฐจึงเปรียบเสมือนแต่ละประเทศที่มักมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนกระทรวงหรือหน่วยงานกลาง เช่น เมื่อมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เดียวกันในระดับรัฐ และมีอำนาจออกกฎหมายที่ใช้เฉพาะในรัฐได้ ขอเพียงอย่างเดียวกฎหมายนั้นต้องไม่แย้งกฎหมายกลางในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

การออกกฎหมายในสหรัฐฯ ทุกระดับนั้น ว่าไปก็เป็นการเปิดเผยทุกอย่างจนออกนอกหน้า กล่าวคือในการออกกฎหมายอะไรก็ตาม จะมีการประกาศให้รู้กันล่วงหน้าเป็นเวลานานพอควร นานจนกฎหมายบางฉบับแท้งคาปากกาไปเลย เพราะมีการวิ่งเต้นล้มกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยบุคคลที่ทำอาชีพเป็น Lobbyist

(คำว่า Lobbyist นั้น ใน Cambridge Advanced Learner’s Dictionary ให้คำอธิบายว่าเป็น someone who tries to persuade a politician or official group to do something การทำงานของ lobbyist นั้นจะต้องมีกฎ กติกา มารยาท ที่ต้องไม่มีการคอรัปชั่น กล่าวคือ จะทำอะไรก็ตามต้องมือสะอาดจนดมดูได้ ผู้ทำหน้าที่ Lobbyist นั้น อาจเป็นคนๆ เดียว หลายคน หรือเล่นมากันทั้งฝูงแบบสมาคมที่มีผลประโยชน์ในเรื่องนั้นๆ เลยก็ได้ รายละเอียดยิ่งกว่านี้ขอเชิญไปหาความสำราญได้จาก Wikipedia ครับ)

ข้อมูลจากวารสาร Nature ฉบับออนไลน์ (http://www.nature.com) วันที่ 20 สิงหาคม 2555 ได้ออกข่าวระบุว่า ปฏิบัติการเพื่อให้มีกฎหมายติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมนั้นเป็น Expensive war ทั้งนี้เพราะ ฝ่ายผู้ประกอบการได้เริ่มต้นตั้งงบประมาณในการรณรงค์คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ด้วยวงเงินราว 13 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนกฎหมายนี้คือ องค์กรอิสระที่ต่อต้านการใช้กระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมกับอาหารนั้นก็ตั้งงบในการรณรงค์ครั้งนี้ไว้ 2.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคงได้จากการบริจาคล้วนๆ

ความสำคัญของ Prop 37 นี้ก็คือ มันเป็นตัวแทนปรัชญาพื้นฐานของสิทธิผู้บริโภคที่มีสิทธิจะรู้ถึงคุณลักษณะของสินค้าที่จะบริโภค โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นว่า การตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีอันตรายหรือไม่ ในขณะที่ผู้ผลิตก็กล่าวอ้างว่า การติดฉลากนั้นจะกระทบถึงผู้บริโภคแน่เพราะมันต้องใช้เงิน ซึ่งส่งผลถึงการเพิ่มราคาสินค้า

การพยายามให้มีการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีมาแล้วใน19 รัฐ แต่ก็แท้งหมดทุกครั้ง เพราะมีการต่อต้านจากผู้ประกอบการ แต่ในครั้งนี้ที่รัฐแคลิฟอร์เนียดูเหมือนจะประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากมีการรณรงค์อย่างจริงจังในการออกกฎหมายนี้ ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ใน YouTube โดยใช้ Keyword ว่า Prop 37 California ซึ่งมีข้อมูลทั้งคนที่ต้องการให้กฎหมายนี้ผ่านและไม่ผ่าน

ถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อีกหลายรัฐคงเอาอย่างบ้าง ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของชาวอเมริกันเลยทีเดียว

การติดฉลากอาหารผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนี้ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกามักอยู่ในกลุ่มหลัง ถึงขนาดเรียกกฎหมายในลักษณะนี้ว่า เป็นกฎหมายที่ต่อต้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความรู้สึกว่า กฎหมายลักษณะนี้จะทำให้เกิดความท้อแท้ในการจะพัฒนาความรู้ในการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขายผู้บริโภค

ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ไม่คิดว่า การตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น เป็นการทำให้เกิดชีวิตแบบใหม่ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงนั้นได้มีการกลายพันธุ์ไปแล้ว และที่สำคัญซึ่งมักหลงลืมกันก็คือ การทำงานของหน่วยพันธุกรรม (gene) ลักษณะหนึ่งมักมีผลต่อการทำงานของหน่วยพันธุกรรมอื่นในเซลล์เดียวกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การตัดแต่งพันธุกรรมของถั่วเหลืองให้ต่อต้านสารกำจัดวัชพืชนั้น ได้ทำให้ถั่วเหลืองมีการสร้างสารไอโซ
ฟลาโวน (isoflavone) ลดลง เช่น เจ็นนิสติน (genistin) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ผู้บริโภคหวังว่าต้องได้จากการบริโภคถั่วเหลือง (เพื่อลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม) จะลดลงไปถึงระดับที่นักตัดแต่งพันธุกรรมเรียกว่า ต่ำปรกติ (หมายความว่า ถึงต่ำก็ยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าไม่ผิดปกติ)

นักตัดแต่งพันธุกรรมพืชมักกล่าวว่า การที่พืชทางเศรษฐกิจสามารถต้านสารกำจัดวัชพืชนั้นเป็นผลดีต่อเกษตรกร เพราะช่วยประหยัดเวลาในการใช้สารเคมี เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่า สารกำจัดวัชพืชจะไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชที่ต้องการ ในประเด็นนี้นักต่อต้านการใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมกลับคิดว่า เกษตรกรมักจะมักง่ายที่จะไม่สนใจว่าสารเคมีจะตกค้างบนพืชที่ต้านสารเคมีได้ ส่งผลให้ผลิตผลการเกษตรนั้นมีสารตกค้างในปริมาณที่สูงขึ้น อีกทั้งความสามารถในการใช้สารเคมีได้ตามสบายยังส่งผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องซื้ออาหารที่แพงขึ้นด้วย

ทำไมการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจึงสำคัญสำหรับผู้บริโภคในรัฐแคลิฟอร์เนีย คำตอบก็คือ ปัจจุบันมีนักวิชาการได้ประเมินว่า อาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นมีองค์ประกอบที่ได้จากพืชตัดแต่งพันธุกรรมกว่าร้อยละ 70 (ข้อมูลเหล่านี้ดูได้จาก Youtube) ตัวเลขที่แน่นอนนั้นยังไม่ยืนยัน แต่ที่แน่ๆ คือ มีการทำโพล (poll หรือคำเติมคือ opinion poll) หลายการสำรวจเช่น ของ Thomson Reuters ในปี 2010 พบว่า คนอเมริกันทั่วไปกว่าร้อยละ 90 ต้องการฉลากดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การดูข้อมูลจากการทำโพลนั้นมักต้องติดตามให้ทันสมัยเพราะข้อมูลเปลี่ยนไปมาได้ตลอด ที่สำคัญก็ต้องดูว่าเป็นโพลของสำนักไหน เพราะคนทำโพลก็ต้องกินข้าว อยู่บ้าน มีรถขับ และอยากได้เฟอร์นิเจอร์ประดับกายอื่นๆ เหมือนกัน จะหวังให้คนทำโพลถือศีลครบห้าข้อตลอดนั้น ชาติหน้าบ่ายๆ ค่อยหวังแล้วกัน

ในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เคยมีการทำโพลว่าคนในรัฐนี้ร้อยละ 67 สนับสนุนการขึ้นภาษีบุหรี่ ดังนั้นบริษัทผลิตบุหรี่จึงทุ่มเงินราว 50 ล้านเหรียญเพื่อรณรงค์ต่อต้านกฎหมายนี้ และประสบความสำเร็จคือ ในที่สุดว่ากฎหมายเพิ่มภาษีบุหรี่ก็ตกไป จึงมีนักข่าวหลายคนคาดว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นกับกฎหมายการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของรัฐแคลิฟอร์เนียได้ ซึ่งเราต้องคอยดูกันต่อไป

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจไม่เคยสนใจหรือทราบว่า หลักการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของไทยนั้นมีข้อกำหนดอย่างไร

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545 เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีอาหารในหมวดที่ต้องแสดงฉลาก 22 ชนิด ซึ่งอาหารที่ควบคุมจะเป็นอาหารประเภทถั่วเหลืองและข้าวโพด ในประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรมเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก ซึ่งหมายความว่า อาหารที่มีถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่มีสารพันธุกรรมหรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรมอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก ต้องติดฉลากบอกปริมาณ ซึ่งดูแล้วก็มีคำถามว่า ถ้าองค์ประกอบชนิดที่ 4 เป็นอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมและมีปริมาณเกินร้อยละ 5 ขึ้นไปด้วย จะต้องแสดงฉลากขององค์ประกอบที่ 4 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ (โดยอธิบายในเชิงว่าคงไม่มีอาหารอะไรที่จะมีองค์ประกอบลำดับที่ 4 มีปริมาณเกินร้อยละ 5)

การออกประกาศให้ติดฉลากอาหารที่ตัดแต่งพันธุกรรมของไทยนั้น เป็นการทำตามธรรมเนียมของประเทศที่เป็นสมาชิกที่ดีของ WTO ที่พึงกระทำตามที่ Codex ขององค์การสหประชาชาติกำหนด ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นใหญ่โตเกินว่า Codex จะกล้าวอแว ดังนั้นเมื่อจะมีการออกกฎหมายการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมแม้เพียงในรัฐเดียวของมหาประเทศนี้ ก็เป็นเรื่องที่ควรจับตามอง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ได้จากวิกิพีเดีย (ภาษาไทย) คือ แคลิฟอร์เนียรัฐเดียวมีผลิตผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงถึง 14% ของประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด และยังเป็นมลรัฐที่ผลิตอะไรต่อมิอะไรออกมาขายได้มากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าแคลิฟอร์เนียแยกเป็นประเทศอิสระ ก็จะเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ภาคเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สำคัญที่สุด ตามมาด้วยอวกาศยาน และธุรกิจบันเทิง และธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่กำลังเติบโตในย่านซิลิคอนแวลลีย์ดังนั้นถ้าแคลิฟอร์เนียขยับ รัฐอื่นเอาตามแน่ คนที่แย่คือ ผู้ประกอบการขายสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม

ที่สำคัญรัฐนี้รัฐเดียวมีมหาวิทยาลัยนับพันแห่ง แต่...อย่าเพิ่งทึ่ง อึ้ง เสียว เพราะถึงแม้รัฐแคลิฟอร์เนียมีมหาวิทยาลัยระดับโลกอยู่หลายสิบแห่ง แต่ก็เป็นรัฐที่มีมหาวิทยาลัยห้องแถวขี้กร๊วกแบบว่าขายปริญญาบัตรมากมายมหาศาลเช่นกัน ดังนั้นท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจถ้าพบว่า ขณะที่ท่านเข้าไปหาประโยชน์เกี่ยวกับอาหารตัดแต่งพันธุกรรมใน YouTubeกลับพบว่ามีด็อกเตอร์มากมายที่ออกมาสรรเสริญเยินยอกระบวนการทำให้อาหารกลายเป็นอาหารตัดแต่งพันธุกรรมจนทำให้เกิดอาการสะอิดสะเอียน เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้เขียนขอแนะนำให้เปลี่ยน Keyword ใน YouTube ไปเป็น gangnum style ดีกว่า จะได้พบอะไรที่ไร้สาระดี

ข้อมูลจาก http://www.web.greenworld.or.th/columnist/goodlife/1944

พิมพ์ อีเมล