zoczoc banner

รู้จัก ซอกแซกสื่อ

ซอกแซกสื่อ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งโครงการนี้หวังสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่และเผยแพร่ข้อมูล สร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภคมีความรู้ และเท่าทันโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

 

ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่หลายฝ่ายไม่ว่ารัฐ เอกชน หรือประชาสังคมได้มีการสะท้อนปัญหาอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งกระบวนการเพื่อการจัดการปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะการทำให้เป็นปัญหาร่วมของสังคมผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต การทำบันทึกความตกลงการดำเนินงานร่วมกันในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนเพื่อให้เท่าทันโฆษณาระหว่างรัฐและเอกชนกว่า ๑๐ องค์กร การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เนต โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การปฏิบัติการร่วมกันแบบสามประสานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด ซึ่งก็ทำให้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายบางส่วนถูกดำเนินการลงโทษและทำให้การพบเห็นการกระทำความผิดลดลงบ้างในบางพื้นที่

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการละเมิดกฎหมายก็ยังคงดำรงอยู่และยังสามารถพบเห็นได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่มากขึ้น ดังเห็นได้จากข้อมูลการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาใน ๒ ช่วง คือ ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน ๒๕๕๖ และเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ – มกราคม ๒๕๕๗

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาช่วงเดือน มกราคม – เมษายน ๒๕๕๖ พบว่า มีคดีเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน ๑๕๖ คดี มูลค่าที่ปรับรวม ๒,๑๓๖,๔๐๐ บาท แบ่งเป็น (๑) ผลิตภัณฑ์ยา มีการกระทำความผิด ๑๔ คดี มูลค่าการปรับ ๖๒๐,๐๐๐ บาท (๒) ผลิตภัณฑ์อาหาร มีการกระทำความผิดฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ๑๒๐ คดี รวมค่าปรับ ๕๖๖,๙๐๐ บาท มีฉลากอวดอ้างรักษาโรค ๒ คดี รวมค่าปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท (๓) ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์มีการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน ๑๔ คดี มูลค่าการปรับ ๓๓๗,๕๐๐ บาท (๔) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำนวน ๘ คดี รวมค่าปรับ ๖๐๐.๐๐๐ บาท

ขณะที่ผลการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในช่วงเดือน ตุลาคม ๒๕๕๖ – มกราคม ๒๕๕๗ มีคดีเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน ๒๙๖ คดี มูลค่าที่ปรับรวม ๔,๑๖๐,๔๐๐ บาท แบ่งเป็น (๑) ผลิตภัณฑ์ยา มีการกระทำความผิด ๓๐ คดี มูลค่าการปรับ ๑,๕๘๐,๔๐๐ บาท (๒) ผลิตภัณฑ์อาหาร มีการกระทำความผิดฐานโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ๒๓๔ คดี รวมค่าปรับ ๑,๓๕๕,๐๐๐ บาท มี (๓) ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์มีการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน ๒๐ คดี มูลค่าการปรับ ๔๗๕,๐๐๐ บาท (๔) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำนวน ๘ คดี รวมค่าปรับ ๗๕๐.๐๐๐ บาท

ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ จากการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหารที่ได้เฝ้าระวังการโฆษณาผิดกฎหมายในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๗ เป็นเวลา ๑ วันใน ๑๐ จังหวัดได้แก่ สระบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล พบว่ามีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า ๑๐๐ สปอต จาก ๔๕ ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นยา ๓๐ รายการ อาหาร ๑๔ รายการ และเครื่องสำอาง ๑ รายการ คละกันทั้งสปอตวิทยุและรายการโทรทัศน์โดยเกือบทั้งหมดยกเว้นแต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อพิจารณาเนื้อหาการโฆษณา มีข้อความที่พบมากที่สุดคือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาดเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกรณีของยาหรืออาหาร โดยที่มีเนื้อหาโฆษณาไปในทางบำรุงสมรรถภาพทางเพศ หรือบำรุงภายใน ทำให้อวัยวะเพศกระชับ จำนวน ๑๐ ชิ้นสปอต จาก ๔ ผลิตภัณฑ์ โดยในกรณีของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานมีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอางจำนวน ๑ ชิ้นสปอตจาก ๑ ผลิตภัณฑ์

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำเป็นจะต้องใช้กลยุทธและวิธีการที่แปลกใหม่มากกว่าที่เป็นอยู่และการอาศัยแต่เพียงการบังคับใช้กฎหมายโดยวิธีการแบบบนลงล่าง (Top down) นั้นไม่เพียงพอ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนใน ๙ จังหวัดจึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ขึ้น เพื่อนำมุมมองและวิธีการใหม่ ๆ เข้ามาใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยเน้นมาตรการเชิงป้องกันที่ต้นทางโดยการทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนากลไกการกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพควบคู่กันกับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพภาคประชาชนตลอดจนสื่อสารข้อมูลเพื่อการเท่าทันโฆษณาแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักและตื่นตัวในสิทธิของตนเองแก่ผู้บริโภค ทำให้มีศักยภาพในการรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน อีกทั้งสามารถได้รับการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย

พิมพ์ อีเมล