ทดสอบระบบลาดเอียงรถโดยสาร 2 ชั้น

ทำไมต้องทดสอบการลาดเอียง รถโดยสาร ๒ ชั้น?

double decker why
จากตอนที่แล้ว “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักรถโดยสาร ๒ ชั้นกันแล้ว ตอนนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร ๒ ชั้นกันบ้าง ว่านอกจากโครงสร้างรถที่ควรยึดหลักออกแบบทางวิศวกรรมแล้ว หนึ่งในมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และช่วยลดอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ คือ การทดสอบการทรงตัวของรถ หรือการทดสอบการลาดเอียงนั่นเอง



ในการทดสอบการทรงตัวของรถ กรมการขนส่งทางบกออกประกาศเรื่องกำหนดเกณฑ์การทรงตัวของรถในการขนส่งผู้โดยสารฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๕๕ โดยให้รถที่มีความสูงเกิน ๓.๖๐ เมตร ที่เป็นรถใหม่ และรถที่เปลี่ยนตัวถังต้องทดสอบการลาดเอียง ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ส่วนรถที่จดทะเบียนก่อน ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ต้องทดสอบก่อน ๑ มกราคม ๒๕๖๑

ต่อมา กรมการขนส่งฯ ได้ออกประกาศฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๗ แก้ไขให้รถโดยสาร ๒ ชั้นที่จดทะเบียนก่อน ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ต้องทดสอบการลาดเอียงก่อน ๑ มกราคม ๒๕๕๙

ส่วนประกาศฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๘ ยกเลิกให้รถโดยสาร ๒ ชั้นที่จดทะเบียนก่อน ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ไม่ต้องทดสอบการลาดเอียง แต่ให้ติดตั้งระบบติดตาม GPS แทนเพื่อควบคุมความเร็วของรถโดยสาร


อย่างไรก็ดี การทดสอบการลาดเอียงเกิดขึ้น เนื่องจากมีอุบัติเหตุของรถโดยสาร ๒ ชั้นบ่อยครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก โดยจากข้อมูลอุบัติเหตุของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสาร ๒ ชั้นมีความเสี่ยงสูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง ๖ เท่า รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของรถโดยสาร ๒ ชั้นก็สูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง ๖ เท่าเช่นกัน ดังตัวเลขในตารางด้านล่าง

ประเภทรถ

จำนวนอุบัติเหตุ

(กรณี)

จำนวนผู้เสียชีวิต

(คน)

จำนวนรถ

จดทะเบียน (คัน)

อัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อจำนวนรถ

จดทะเบียน

(๑๐,๐๐๐ คัน)

อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนรถ

จดทะเบียน

(๑๐,๐๐๐ คัน)

รถบัส ๑ ชั้น ๑๔๘ ๘๑ ๙๕,๘๖๒ ๑๕.๔ ๘.๕
รถบัส ๒ ชั้น ๖๑ ๓๔ ,๑๑๘ ๘๕.๗ ๔๗.๘


ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้รวบรวมและวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารจำนวน ๔๘ ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๒ โดยพบข้อบ่งชี้ถึงปัญหามาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสาร ๒ ชั้น คือ

๑.การพลิกคว่ำของรถโดยสาร ๒ ชั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยกว่ารถโดยสารชั้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำบนถนนหรือพลิกคว่ำข้างทาง เพราะปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถโดยสารทั่วไป เนื่องจากมิติของตัวรถโดยสาร ๒ ชั้น น้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน

๒.ความแข็งแรงของรถโดยสาร ๒ ชั้น ที่ส่วนใหญ่เป็นรถที่ประกอบขึ้นจากการนำคัซซีเก่ามาซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนการนำเข้ารถจากต่างประเทศ โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานของความปลอดภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สภาพตัวรถจะบิดเบี้ยว หลังคาเปิด เบาะหลุด และผู้โดยสารกระเด็นไปคนละทิศละทาง

รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่นเดียวกับรถโดยสารชั้นเดียว อย่างระบบเบรกลม ที่มักขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะรถวิ่งลงเนินเขาเป็นระยะทางยาว ปัญหาการยึดเบาะที่นั่ง การไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยหรือติดตั้งแล้วแต่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัด เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่ และสภาพถนนที่เป็นทางโค้ง จะทำให้รถโดยสาร ๒ ชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทดสอบการลาดเอียง ๓๐ องศานั้นจะเทียบได้กับการวิ่งรถบนทางโค้ง ซึ่งไม่เพียงแต่ทดสอบเฉพาะรถโดยสาร ๒ ชั้นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงรถโดยสารชั้นเดียวที่มีความสูงตั้งแต่ ๓.๖๐ เมตรขึ้นไปอีกด้วย โดยในประเทศไทย กรมทางหลวงรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงบนท้องถนน ในปี ๒๕๕๗ ว่ามีจำนวนจุดเสี่ยง ๑๔๕ จุด จาก ๘๕ เส้นทาง คือเป็นทางที่มีความชันเกินร้อยละ ๗ และเป็นทางโค้งต่อเนื่อง ๓ กิโลเมตรขึ้นไป

“ผู้บริโภคควรได้รับความมั่นใจและความปลอดภัยในการเลือกใช้บริการรถโดยสาร ๒ ชั้น เราถึงเรียกร้องให้รัฐต้องยึดนโยบายเดิมที่มี ที่บังคับให้รถ ๒ ชั้นทุกคัน ทั้งรถเก่าและรถใหม่ต้องผ่านการทดสอบลาดเอียง หากคันไหนทดสอบไม่ผ่านก็ต้องหยุดวิ่งทันที” คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็น

คงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การทดสอบการลาดเอียงของรถโดยสาร ๒ ชั้นนั้น ที่ผ่านมารัฐให้เวลากับผู้ประกอบการมานานแล้ว ตั้งแต่ประกาศของกรมการขนส่งฯ ฉบับปี ๒๕๕๕ ปี ๒๕๕๗ แต่พอปลายปี ๒๕๕๘ รัฐยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ โดยยกเลิกให้รถโดยสาร ๒ ชั้นเก่าไม่ต้องทดสอบการลาดเอียง แต่ให้ติดตั้งระบบติดตาม GPS แทน ซึ่งจากนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ประกอบการเช่นนี้ ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงมากกว่าจะได้รับความมั่นใจในการใช้บริการ

“รัฐต้องให้ความสำคัญกับประชาชนผู้บริโภคควบคู่กับผู้ประกอบการ” ผู้ประสานงานโครงการฯ ย้ำ

แม้ว่าตอนนี้ นโยบายการทดสอบการลาดเอียงอาจยังไม่ครอบคลุมกับรถโดยสาร ๒ ชั้นทุกคัน ในตอนหน้า เรามาดูกันว่า ทางออกของผู้โดยสารที่จะเลือกขึ้นรถที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงแล้ว คืออะไร?

พิมพ์ อีเมล