เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือย้ำการแก้ปัญหารถรับส่งนักเรียน ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ด้านนักวิชาการชี้รถรับส่งนักเรียนกับรถโดยสารสาธารณะไม่สามารถใช้กฎหมายเดียวกันได้ แนะขนส่งทำระเบียบใหม่บังคับใช้กับรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะ
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคเหนือ ร่วมจัดเวทีสาธารณะภาคเหนือ “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องร่วมมือพัฒนารถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย” ที่โรงแรมบีพีเชียงใหม่ ซิตี้โฮเทล จ.เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอบทเรียนการทำงานที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยในสถานศึกษานำร่อง 10 แห่งจาก 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง และพิจิตร พร้อมระดมความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปพัฒนาเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหารถรับส่งนักเรียนระหว่างปี 2558 – 2560 พบว่าปี 2558 เกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้งมีผู้เสียชีวิต 24 คน ปี 2559 เกิดอุบัติเหตุ 28 ครั้ง และปี 2560 เกิดอุบัติเหตุ 30 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7 คนเท่ากันทั้ง 2 ปี แต่ละปีมีเด็กนักเรียนมากกว่า 300 รายที่มีความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียน ผู้ประกอบบางส่วนไม่สนใจทำประกันภาคสมัครใจสำหรับประเภทรถเพื่อการรับจ้าง หากรถเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจะมีปัญหาการชดเชยเยียวยา ประกอบกับผู้ปกครองและสถานศึกษาไม่มีองค์ความรู้เรื่องรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย จึงมองไม่เห็นความเสี่ยงที่นักเรียนอาจได้รับจากการใช้บริการ และที่สำคัญไม่มีหน่วยงานหลักที่เข้ามาแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา
“มูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยคาดหวังให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะช่วยจัดตั้งกลไกคณะทำงานนโยบายในระดับประเทศ และระดับพื้นที่ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ทำหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้ ชุดข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง การพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียน การกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้รถรับส่งนักเรียน และการผลักดันด้านงบประมาณจากรัฐเพื่อช่วยสนับสนุนด้านบริการรถรับส่งนักเรียน” นายคงศักดิ์กล่าว
น.ส.พวงทอง ว่องไว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พะเยา ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา ครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ผู้ประกอบการและสภานักเรียนในการพัฒนารถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย ซึ่งอาจจะตั้งเป็นกลไกความร่วมมือในรูปแบบคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัด เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกลไกการเฝ้าระวัง การพัฒนาข้อตกลงร่วม และการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นแผนงานของจังหวัดให้ได้ เพื่อให้การทำงานยั่งยืนและต่อเนื่อง
ด้านนายฉัตรไชย ภู่อารีย์ นักวิชาการขนส่งอิสระ กล่าวว่า รถรับส่งนักเรียนไม่ได้มาตรฐานเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานานและยังไม่มีแนวทางจัดการที่เป็นระบบ เนื่องจากรถรับส่งนักเรียนมีเงื่อนไขในการให้บริการที่แตกต่างไปจากรถโดยสารสาธารณะ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทำให้ทั้งโอกาสและความเจริญกระจุกตัวอยู่เฉพาะโรงเรียนในเขตเมือง ส่งผลให้นักเรียนที่อยู่รอบนอกต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งของตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้น บางครอบครัวมีปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่สามารถมีรถไปส่งลูกหลานข้ามพื้นที่ได้ พื้นที่บางแห่งรถโดยสารสาธารณะเข้าไปไม่ถึง จึงต้องมีรถรับส่งนักเรียนคอยให้บริการ
นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนไม่ปล่อยนักเรียนลงระหว่างทาง ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าลูกหลานของตัวเองถึงที่หมายอย่างแน่นอน ที่สำคัญคนขับรถยังรู้จักทั้งตัวนักเรียนและครอบครัว เมื่อนักเรียนเจอปัญหาสามารถรายงานผลให้ผู้ปกครองได้ทราบพฤติกรรมของลูกหลานได้
แต่ปัญหาที่พบคือรถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไม่สามารถนำมารับจ้างได้ เพราะผู้ประกอบการบางรายทำเป็นอาชีพเสริม หรือถ้าพัฒนาให้เป็นรถตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดย่อมมีผลต่อค่าโดยสารที่ผู้ปกครองต้องช่วยกันแบกรับ และเมื่อสำนักงานขนส่งจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบรถรับส่งนักเรียน โดยใช้ พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ที่บังคับใช้กับรถโดยสารประจำทาง จึงไม่แปลกที่รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่จะผิดกฎหมาย
จากการเก็บข้อมูลเรื่องรถรับส่งนักเรียนมาทั่วประเทศฟันธงได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่กรมการขนส่งทางบกจะนำกฎหมายที่บังคับใช้กับรถโดยสารประจำทางมาบังคับใช้กับรถรับส่งนักเรียนด้วย เนื่องด้วยที่มาและเงื่อนไขของการให้บริการที่ต่างกัน และเกณฑ์ในการตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสารประจำทางไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของรถรับส่งนักเรียน จึงมีข้อเสนอแนะว่ากระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางควรออกข้อบังคับ หรือระเบียบ หรือทำกฎหมายที่ใช้บังคับกับรถรับส่งนักเรียนอีกหนึ่งฉบับขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะในการกำหนดคำนิยามและกำหนดมาตรฐานเรื่องรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถจัดการได้จริง
นายฉัตรไชยยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริงแล้วรัฐต้องมีหน้าที่จัดหาบริการรถโดยสารประจำทางและรถรับส่งนักเรียนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ในเมื่อรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งอาสานำรถส่วนตัวเข้ามาให้บริการรับส่งนักเรียนได้มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือ เป็นคนลงทุนและรับความเสี่ยงแทนรัฐทั้งหมด แทนที่รัฐจะมีนโยบายส่งเสริมและเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบสามารถจัดบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับใช้ข้อกฎหมายมาเป็นอุปสรรคในการจัดบริการ