เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีสาธารณะความร่วมมือเพื่อการพัฒนารถรับส่งนักเรียนปลอดภัยระดับประเทศ
ชมบันทึกเวทีการเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/fconsumerthai/videos/1322432577880301/
จากสถานการณ์อุบัติเหตุและผลภาพรวมการสำรวจคุณภาพบริการรถรับส่งนักเรียนของเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค ประกอบ 32 จังหวัด 3,392 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษามัธยมต้นและ มัธยมปลาย/ ปวส. พบปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการรถรับส่งนักเรียนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือ 1. ปัญหาที่เกิดจากคนขับรถ พบว่า ขับรถเร็ว มีการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ แต่งกายไม่สุภาพ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 2.ปัญหาการใช้บริการ พบว่ารอนาน รับนักเรียนเกินที่นั่งบนรถ รถเสียระหว่างทาง และค่าโดยสารแพง 3.สภาพรถ พบว่ามีการดัดแปลงเพิ่มที่นั่ง แออัด สภาพเก่า และไม่มั่นคงแข็งแรง
รศ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ.รามาธิบดี กล่าวว่าความปลอดภัยของรถโรงเรียนมีหลายองค์ประกอบทั้งสภาพรถ การออกแบบภายใน ระบบความปลอดภัย อุปกรณ์เสริม รวมถึง ความรู้ ทัศนะพฤติกรรมของคนขับ และทักษะของคนดูแลเด็กในรถ ที่สำคัญผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วม
“ทั้งหมดจะทำได้ ต้องมีผู้จัดการคือ โรงเรียน และองค์กรท้องถิ่น ในการดูแลเด็กในพื้นที่ตัวเอง ต้องช่วยกัน ส่วนคนคุมระเบียบ เช่น ขนส่ง จะเป็นตัวช่วย ในการอบรม ต่อใบอนุญาต กำหนดสภาพรถ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน เช่น มีแอพพลิเคชั่น แต่ต้องมีการอบรมคนขับให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยเด็กต้องมาก่อน รวมถึงมีเช็คลิสต์ การตรวจสภาพรถ การอบรมคนขับ ให้กับผู้ปกครองเพื่อเช็คว่ารถที่ลูกนั่งอันตรายหรือไม่ด้วยก็จะดี”
นายอดิศักดิ์ อารีศรีสม หัวหน้ากิจการนักเรียน โรงเรียนสิงห์บุรี กล่าวถีงการบริหารรถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนว่ามีฝ่ายกิจการนักเรียนเป็นผู้ดูแล ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตจากโรงเรียนก่อน ถึงจะขอใบอนุญาตที่ขนส่งได้ มีการถ่ายรูปตัวรถ รายชื่อนักเรียน
“อยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เข้ามากำกับดูแลในเชิงนโยบาย ทำงานร่วมกันกับขนส่ง และการบังครับใช้กฎหมายของตำรวจจราจร เพราะบางทีบางโรงเรียนไม่เห็นความสำคัญของรถรับส่งนักเรียน หากมีการการติดตามผลจะทำทุกโรงเรียนเห็นถึงความสำคัญ และต้องดึงผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญด้วย รวมถึงกำกับดูแลอย่างเข้มงวด” หัวหน้ากิจการนักเรียน โรงเรียนสิงห์บุรีกล่าว
นายวัลลภ งามสอน กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงการกำกับดูแลของกรมการขนส่งฯว่า ได้สร้างกลไกความร่วมมือ โดยรถทุกคันนั้นต้องผ่านการรับรับรองจากโรงเรียน ก่อนเข้ามาที่สำนักงานขนส่งจังหวัด และทางสำนักงานขนส่งจึงตรวจมาตรและจึงออกใบอนุญาต
“แต่ก็ยังมีรถไม่ได้รับอนุญาตจากขนส่ง วิ่งรับส่งเถื่อน หรือแม้จะผ่านแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขณะวิ่งรับส่ง คำถามคือผู้ปกครองพร้อมจะให้บุตรหลานของตัวเองไปกับรถเหล่านี้ไหม”
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล เลขาธิการมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่าในการลงเก็บข้อมูลในโรงเรียนมัธยมว่า ไม่ใช่โรงเรียนไม่อยากทำรถรับส่งนักเรียน แต่ต้องมีทีมทำงาน หรือบางโรงเรียนยังไม่มีข้อมูลเลยว่าไม่มีข้อมูลพื้นฐานจำนวนรถโรงเรียนของตัวเอง
“การมีข้อมูลของโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ หากโรงเรียนใดเคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน โรงเรียนจะตื่นตัวมาก แต่การเยียวยาช่วยเหลือเด็กต้องใช้มาก หากไม่ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ก่อนถึงเห็นความสำคัญ”เลขาธิการมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนากล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเด็กที่ใช้เวลาเดินทางไปโรงเรียนเกิน 20 กิโล สะท้อนว่าเด็กไม่มีโรงเรียนใกล้บ้าน ร้อยละ 75 เดินทางประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
“อยากให้เทศบาล หรือ อบจ. หารถโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน พัฒนาให้มีโมเดลรถโรงเรียน ส่วนในเรื่องราคานั้นพบว่า เด็กมากกว่าร้อยละ 20 จ่ายมากกว่า 1,200 บาทเป็นค่ารถ ในต่างประเทศจะจำกัดราคาเพดาน ไม่ให้เกินกี่บาท ซึ่งไม่ควรเกิน ร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ มองต่อไปถึงค่าบริการของรถสาธารณะด้วย”
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวต่อว่าหากรถประสบอุบัติเหตุ ต้องชดเชยจำนวนมาก ซึ่งรถที่จะมี พรบ.ภาคสมัครใจ หรือประกันชั้น 1 ก็ไม่ง่าย เงื่อนไขเหล่านี้จะมีกลไกอย่างไรที่จะให้รถสาธารณะจ่ายน้อยกว่า รวมถึงพัฒนากลไกการเยียวยาที่ดี มีการช่วยเหลือที่ชัดเจน พ่อแม่ไม่ต้องไปฟ้องคดี
นอกจากนี้ยังเสนอทางออกว่า 1.ระบบเยียวยาต้องทำให้ง่าย ไม่ต้องฟ้องคดี 2.ยอมรับความจริงเรื่องมาตรฐานรถนักเรียน ที่เป็นรถดัดแปลง ไม่ควรยอมรับเรื่องรถที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจกับผู้คน ว่าการตายจากรถดัดแปลง เป็นเรื่องที่ต้องเข้มงวด หรือเกิดจากถนนไม่ปลอดภัย 3.กรรมการในขนส่งจังหวัด ควรมีภาคประชาชนเข้าไปร่วม โดยเห็นเรื่องความปลอดภัยของคนเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราทำมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลง