รถตู้โดยสารครองแชมป์รถโดยสารเกิดอุบัติเหตุปี 59  

kongsak
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยข้อมูลการ เฝ้าระวังอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ปี 2559 พบว่า อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทมีเพิ่มขึ้นและรุนแรง รถตู้โดยสาร เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

วันนี้ (20 ธันวาคม) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังอุบัติเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2559 พบว่า “รถตู้โดยสาร ” มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ 215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บ 1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน มีผู้เสียชีวิต 103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทในการขับรถของผู้ขับขี่ และสาเหตุความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต กิดจากสภาพของรถตู้โดยสารดัดแปลงที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร

ขณะที่รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อปีตามลำดับ คือ รถทัวร์โดยสารประจำทาง 141 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,252 คน เสียชีวิต 56 คน รถทัวร์โดยสารไม่ประจำทาง 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 576 คน เสียชีวิต 47 คน รถแท็กซี่ 77 ครั้ง บาดเจ็บ 84 คน เสียชีวิต 7คน และรถเมล์โดยสาร 48 ครั้ง บาดเจ็บ 75 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน

อนึ่งปัจจุบันมีรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 จำนวน 156,089 คัน โดยเป็นรถตู้โดยสารจำนวน 41,202 คัน แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 16,002 คัน รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 24,136 คัน และรถตู้ส่วนบุคคล 1,064 คัน

ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะว่า เกิดจากหลายปัจจัยทั้งคน รถ และถนน เช่น พฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่ โครงสร้างรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย รูปแบบถนนที่เป็นอุปสรรคและไม่เอื้อต่อการขับขี่ของรถโดยสาร ความไม่พร้อมและการไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการของผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลของรัฐที่ไม่ต่อเนื่องจริงจัง
“แม้กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่จากการสำรวจคุณภาพความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถตู้และรถทัวร์โดยสารในปี 2558 ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท สภาพร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การบรรทุกผู้โดยสารเกิน โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง”

นายคงศักดิ์ เสนอทางแก้ไขปัญหาว่า จากปัญหาทั้งหมด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่ารัฐควรมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พัฒนาระบบสัญญาใบอนุญาต ตลอดจนความปลอดภัยรถโดยสาร และเข้มงวดกับการตรวจรถโดยสารมากยิ่งขึ้น หากมีกรณีอุบัติเหตุซ้ำซาก ควรมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

พิมพ์ อีเมล