ขับรถชนเสาไฟฟ้า ใครต้องจ่ายประกันภัย

car aciden
มาดูกรณีตัวอย่างจากคุณวรรณดี ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่งกับบริษัท ประกันภัยแห่งหนึ่ง
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คุณวรรณดีพร้อมกับครอบครัวประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ คือระหว่างขับรถกลับจากธุระ  รถยนต์ที่นั่งมานั้นเกิดเสียหลักพุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้าอย่างแรง  รถยนต์พลิกคว่ำเสียหายมาก  ความแรงของการพุ่งชนทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่นลงมาด้วย

ยังโชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บสาหัส เรื่องทางกายไม่มีปัญหา แต่มามีปัญหากลุ้มใจมาก ๆ ก็เรื่องประกัน

ภายหลังอุบัติเหตุคุณวรรณดีติดต่อกับบริษัทประกันภัยเพื่อให้มาจัดการปัญหาเรื่องรถยนต์ที่เสียหาย  บริษัทฯ จัดการนำรถยนต์เข้าซ่อมในวันถัดมา  จากวันนั้นถึงวันที่มาปรึกษากับศูนย์ฯ ระยะเวลาก็เลยมากว่า 2 เดือน ตลอดเวลาที่ติดต่อกับทางบริษัท ฯ ได้ทราบข้อมูลเพียงว่า รถยังไม่ได้ซ่อมแซมและตัวแทนยังให้คำแนะนำอีกหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสมากกว่าจะช่วยบรรเทาปัญหา

คุณวรรณดีเกือบพลาด ด้วยเหตุเกิดจากความไม่รู้ในสิทธิของตนที่พึงได้จากการทำสัญญาประกันภัยชั้นหนึ่ง  เมื่อข้อมูลไม่ชัดเจนทำให้การต่อรองเจรจาทำได้ไม่ดีพอที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้  ตลอดจนท่าทีของบริษัทฯ ที่บ่ายเบี่ยงและให้คำแนะนำซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้บริโภค คุณวรรณดีจึงต้องขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

ทางศูนย์ฯ เห็นว่า บริษัทใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ของผู้บริโภคมาหลีกเลี่ยงการชดเชยในส่วนของการซ่อมรถยนต์   จึงประสานงานให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้บริโภคกับบริษัทฯ  เพื่อแก้ไขปัญหาผลการเจรจาซึ่งได้ทำลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน สรุปได้ว่า

คุณวรรณดีต้องการให้บริษัท ฯ ดำเนินการซ่อมรถจนอยู่ในสภาพใช้งานได้ ซึ่งไม่เกินกว่าทุนประกันภัยที่ทำไว้ ใช้อะไหล่เก่าได้ แต่ต้องมีสมรรถภาพใช้งานใกล้เคียงของเดิม ตลอดจนระยะเวลาซ่อมไม่เกินสามเดือน

เรื่องทำท่าคลี่คลายไปด้วยดี ถ้าไม่เกิดปัญหาตามมาอีก  คราวนี้คุณวรรณดีเจอกับใบแจ้งหนี้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเจ้าของเสาไฟฟ้าต้นที่รถของคุณวรรณดีไปชนจนหัก รวมเป็นเงินค่าเสาไฟฟ้าทั้งสิ้น 32,000 บาท

รถยังซ่อมไม่เสร็จ ก็ให้มีเหตุเกิดหนี้สินอีก ผู้บริโภคจึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีเพราะไม่มีเงินพอจะไปจ่ายให้กับการไฟฟ้า ฯ

อันที่จริงหากคุณวรรณดีเข้าใจในสิทธิที่พึงจะได้รับการคุ้มครองจากประกันภัยชั้นหนึ่ง คุณวรรณดีคงไม่กลุ้มมากนัก เพราะบริษัทประกันภัยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด ไม่งั้นจะจ่ายค่าเบี้ยประกันชั้นหนึ่งไปทำไมตั้งมากมาย

จึงฝากผู้บริโภคทุกท่าน โปรดอ่านสัญญาการคุ้มครองการประกันภัยให้ละเอียดและถามกับตัวแทนประกันให้ชัดเจนเพื่อจะได้ไม่เสียประโยชน์ที่พึงมีพึงได้

ข้อควรจำอย่างง่ายเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์

  1. ประกันชั้นหนึ่ง บริษัท ฯ จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดไม่ว่ารถคุณจะไปชนกับอะไรก็ตามภายใต้วงเงินตามกรมธรรม์ระบุ
  2. ประกันชั้นสอง บริษัท ฯ กับคุณมีความรับผิดชอบร่วมกัน สัญญาจะระบุว่าคุณต้องจ่ายอะไร บริษัทต้องจ่ายอะไร
  3. ประกันชั้นสาม บริษัท ฯ รับผิดชอบรถยนต์คันที่เราขับไปชน  แต่เราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถของเราเอง
  4. ประกัน พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 คุ้มครองสุขภาพทุกคนที่อยู่ในรถ บุคคลที่สามที่ไม่ได้อยู่ในรถแต่ได้รับบาดเจ็บเพราะรถ

พิมพ์ อีเมล