วันดีคืนดี อยู่ ๆ คุณวีรศักดิ์ก็ได้รับจดหมายจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อนแจ้งให้ไปชำระค่าเสียหายจำนวน 12,000 บาท เหตุเพราะรถของลูกค้าผู้เอาประกันภัยถูกรถของคุณวีรพงษ์ชนแล้วหลบหนีไป
คุณวีรศักดิ์ตกใจเพราะไม่เคยขับรถชนใครแล้วหนี แต่พอเห็นเลขทะเบียนของรถคันที่บริษัทอ้างถึง ก็จำได้ว่าเป็นรถยนต์คันเก่าที่ได้ขายให้กับเต้นท์รถไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งชำระเงินกันเรียบร้อยแล้วและตอนที่ซื้อขายกันก็ได้ “โอนลอย” เซ็นหนังสือ พร้อมส่งมอบหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้ทางเต้นท์ผู้ซื้อรถไปจัดการเรื่องทะเบียนแล้ว
แต่ปรากฎว่าจู่ ๆ มาได้รับหนังสือทวงหนี้เพราะมีตนขับรถคันดังกล่าวไปชนคนอื่นแล้วหลบหนีแบบนี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงขอคำแนะนำมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
……………………………………………
ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณวีรศักดิ์ ทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัย เพื่อบอกกล่าวว่ามิได้เป็นผู้ครอบครองรถ พร้อมส่งหลักฐานการขายและส่งมอบรถแนบไปด้วย
เพราะเหตุใดคุณวีรศักดิ์จึงได้รับความเดือดร้อนแม้รถจะได้ขายออกไปแล้ว
ปัญหาในลักษณะนี้ อาจจะเกิดขึ้นกับท่านผู้อ่านหรือใครก็ตามได้ที่ขายรถยนต์ให้กับผู้อื่นโดยการ “โอนลอย”
คำว่า “โอนลอย” นี้ในการซื้อขายรถยนต์ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึง การที่ผู้ขายซึ่งเจ้าของรถได้ลงลายมือชื่อ และส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ในทางทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ หรือผู้ประกอบการเต้นท์รถเพื่อไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของในทางทะเบียนต่อไป
(ในทางกฎหมายการซื้อขายรถยนต์โดยการโอนลอยในลักษณะนี้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ก็เป็นของผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ผู้ขายส่งมอบรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นเจ้าของในทางทะเบียน)
ปัจจุบันในการซื้อขายรถยนต์กับผู้ประกอบการเต้นท์รถก็มักจะใช้วิธีโอนลอยที่ว่า คือให้ผู้ที่นำรถมาขายเซ็นหนังสือในหลักฐานต่าง ๆ ไว้ในลักษณะที่พร้อมจะเปลี่ยนชื่อในทางทะเบียนให้กับใครก็ได้ที่มาซื้อรถยนต์กับทางเต้นท์ ทั้งที่โดยปกติแล้วผู้ประกอบการจะต้องรับโอนรถมาเป็นชื่อของตัวเองก่อน เมื่อมีคนมาซื้อแล้วจึงค่อยโอนทะเบียนให้กับผู้ซื้อรายใหม่ต่อไป การที่เต้นท์รถส่วนใหญ่ซื้อขายรถยนต์ด้วยการโอนลอย ก็เพราะไม่อยากรับภาระเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ซึ่งจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย จึงผลักภาระนี้มาให้กับผู้บริโภค
ดังนั้น ไม่ว่าในกรณีใดก็แล้วแต่ หากยังมิได้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของในทางทะเบียน โอกาสที่จะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกับคุณวีรศักดิ์ก็เป็นไปได้ เพราะเมื่อไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้กฎหมายก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทางทะเบียนเป็นผู้ที่ขับรถยนต์ดังกล่าวซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น แต่ถามว่าถึงที่สุดแล้วคุณวีรพงษ์จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายหรือไม่
คำตอบก็คือไม่ เพราะในข้อเท็จจริง คุณวีรศักดิ์มิใช่ผู้ขับรถยนต์ มิได้เป็นผู้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
หากผู้บริโภคท่านใดเจอปัญหาในลักษณะนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ แจ้งให้คู่กรณีทราบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าท่านมิได้เป็นผู้ครอบครองหรือใช้รถยนต์คันดังกล่าว โดยให้ข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายประกอบไปด้วย เพื่อจะได้หาตัวผู้ต้องรับผิดชอบต่อไป