สวัสดีครับ....ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่งสำหรับในช่วงของ รู้ไว้ใช้สิทธิ ซึ่งวันนี้จะขอนำเสนอในเรื่อง ของผู้บริโภคที่ถูกหลอกให้ทำประกันภัยจาก โบรกเกอร์เถื่อน
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาก้าวไกลไปสู่ในยุคของดิจิกตอลก็ตาม แต่ในเรื่องของจิตใจคนนั้นก็มิได้ก้าวตามไปแต่อย่างใด จึงเกิดทำให้มีการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกวันนี้ในส่วนของการหลอกขายประกันภัย โดยเฉพาะการทำประกันภัยรถยนต์ที่อาศัยค่าเบี้ยประกันราคาถูกล่อใจให้ลูกค้าซื้อ และเมื่อลูกค้าหลงเชื่อและซื้อประกันไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุก็ไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้แน่นอนย่อมจะสร้างความเสียหายให้กับผู้เอาประกันภัยรวมไปถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยในอนาคตด้วย
มีผู้ถูกหลอกให้ทำประกันภัยท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีนายหน้าประกันรายหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาบอกว่ามาจากศูนย์ใหญ่ของรถยี่ห้อดังแห่งหนึ่ง โดยเริ่มสอบถามเกี่ยวกับเรื่องป้ายทะเบียนก่อน และที่น่าแปลกใจนายหน้าคนนี้สามารถรู้เรื่องรถของเราทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นรุ่น สี หรือวันออกรถ จึงเข้าใจว่ามาจากศูนย์ใหญ่จริง
จากนั้นก็ได้แนะนำโปรโมชั่นต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกัน โดยเสนอเงินค่าเบี้ยประกัน 18,000 บาท พร้อมกล้องติดรถยนต์ 1 ตัว ซึ่งเห็นว่าเป็นโปรโมชั่นที่ดีกว่าที่อื่นจึงตอบตกลงไปและจ่ายเงินสดในอีก 2-3 วันต่อมา เมื่อมีการตกลงและจ่ายเงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับกรมธรรม์จึงโทรศัพท์ไปติดตามทวงถาม ทางพนักงานรับสายบอกว่า กำลังดำเนินการให้อยู่ ถ้ามีอะไรสามารถเคลมได้ทันที แต่พอเกิดเหตุจริงกลับได้รับแจ้งจากบริษัทประกันว่า ไม่สามารถเคลมได้เนื่องจากไม่มีข้อมูลในการทำประกันแต่อย่างใด ทำให้รู้ว่าถูกประกันเถื่อนหลอกให้แล้ว
เมื่อมีการหลอกลวงจากโบรกเกอร์เถื่อนจะแก้ปัญหาอย่างไร
1.แจ้งความที่กองปราบปรามเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิด
2. ทำจดหมายยกเลิกประกันไปที่บริษัทประกันและจดหมายปฎิเสธการชำระหนี้และจดหมายยกเลิกประกันไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต(ในกรณีประกันตัดบัตรเครดิต) โดยทำแบบไปรษณีย์ตอบรับ
รู้ทันโบรกเกอร์เถื่อน
1. ซื้อประกันผ่านตัวหรือนายหน้าประกันที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และการจ่ายเบี้ยประกันก็ต้องขอเอกสารทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อช่วยให้ผู้เอาประกันได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันอย่างครบถ้วน
2. บริษัทผู้รับประกันจะต้องมีสถานที่ตั้งที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบการจดทะเบียนของบริษัทได้ โดยวัตถุประสงค์ของการตั้งบริษัทต้องระบุว่า ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันด้วย
3. ตรวจสอบบัตรผู้แทนหรือนายหน้าก่อนซื้อประกัน ซึ่งได้มีกฎหมายไว้ชัดเจนให้ตัวแทนหรือนายหน้าประกันต้องแสดงบัตรประจำตัวกับใบอนุญาตเป็นตัวแทนขายประกัน โดยใบอนุญาตสามารถตรวจสอบได้ที่ คปภ. สายด่วน 1586
4. ตรวจสอบนายหน้าขายประกันผ่านบริษัท กรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงบริษัทประกันภัยรายใดรายหนึ่งในฐานะบริษัทของผู้รับประกันภัย ซึ่งท่านเป็นผู้เอาประกัน ท่านควรอย่างยิ่งที่จะต้องติดต่อกับบริษัทดังกล่าวเพื่อตรวจสอบว่านายหน้าที่ขายประกันให้ท่านนั้นเป็นคู่สัญญากับทางบริษัทหรือไม่
ไม่ว่าอาชีพใดก็ตามหากมีกลุ่มบุคคลใดตั้งอยู่ในความไม่สุจริต แอบแฝงผลประโยชน์เป็นหลัก ก็จะทำให้มีปัญหาตามมาในภายหลัง เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เมื่อท่านต้องการซื้อประกันควรตรวจสอบให้รอบคอบ พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ท่านก็จะสามารถเลือกซื้อประกันได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย
ภาพประกอบจาก เด็กดีดอทคอม