ปีใหม่แล้ว แต่ยังมีหนี้เก่าเป็นเงาตามตัว ทำอย่างไรดี

corporate debt
เคยไหม…เป็นเจ้าของบัตรเครดิตมากกว่าหนึ่งใบ

เคยไหม…จ่ายยอดขั้นต่ำบัตรเครดิตไม่ได้ ก็หมุนเงินจากบัตรโน้นมาจ่ายบัตรนี้จนเต็มวงเงิน
เคยไหม…มีหนี้มากกว่าเงินเดือนจนจ่ายไม่ไหว เครียด ไม่มีทางออก

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีคำแนะนำในการจัดการหนี้บัตรเครดิตเพียง 3 ขั้นตอนที่ทำตามได้ง่ายๆมาฝาก


1. เริ่มจาก “หยุด”

=หยุดจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ เพราะการจ่ายขั้นต่ำแสดงว่ามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
=หยุดก่อหนี้เพิ่ม (สร้างหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า) =หยุดการใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย
=หยุดการหมุนเงินจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล =หยุดการใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย

2. สำรวจ

=สำรวจเงินในกระเป๋า (ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะทราบว่าแต่ละเดือนใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือฟุ่มเฟือย) = สำรวจหนี้สิน ทำตารางหนี้สินทั้งหมดเริ่มตั้งแต่น้อยที่สุดไปหามากที่สุด เก็บเอกสารการชำระหนี้
= สำรวจทรัพย์สินที่ตัวเองมีและเป็นเจ้าของ เช่น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ

3. จัดการหนี้สิน มีหลายวิธีซึ่งเหมาะกับลูกหนี้ที่แตกต่างกันดังนี้

- ผู้มีหนี้สินไม่มาก -จ่ายขั้นต่ำของยอดหนี้ นำรายได้มาชำระหนี้ได้โดยไม่เดือดร้อน ยังมีเงินพอใช้ตลอดเดือน โดยไม่ต้องหมุนเงิน หรือก่อหนี้รายใหม่
ข้อดีของวิธีการจ่ายแบบนี้ คือ ไม่ถูกทวงหนี้ ,ไม่ติดแบล็คลิสต์ และไม่เสียเครดิต
ข้อเสีย คือ หนี้หมดช้า ใช้เวลานานกว่าจะชำระหนี้หมด และไม่สามารถปิดบัญชีได้ หากยังกดเงินออกมาใช้อีก

- ผู้มีรายจ่ายและหนี้สินมากกว่ารายได้ หมุนเงิน สร้างหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า - หยุดจ่ายหนี้ทุกบัญชี เพื่อเก็บเงินก้อนปิดบัญชีหนี้ทีละราย หรือเจรจากับเจ้าหนี้ สิ่งที่ควรทำเมื่อหยุดจ่ายหนี้ คือเก็บเอกสาร หลักฐานยอดหนี้ครั้งสุดท้าย พร้อมทำตารางแสดงรายการหนี้สินทุกรายการเก็บไว้ (เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีหากถูกฟ้องไม่เป็นธรรม)

ข้อดี คือ สามารถปิดหนี้ทีละบัญชี เพื่อลดภาระเรื่องดอกเบี้ย เกิดวินัยทางการออมเพื่อเก็บเงินจ่ายหนี้
ข้อเสีย คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้, เสียเครดิต, ติดแบล็คลิสต์ อาจถูกฟ้องคดี บังคับอายัดเงินเดือนและยึดทรัพย์สิน หรือหากลูกหนี้หยุดจ่ายบางราย ไม่สามารถเก็บเงินได้หรือการจ่ายๆ หยุดๆ ยิ่งทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้น

- สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สิน - นำทรัพย์สินที่มีออกขาย เพื่อใช้เงินก้อนมาปิดบัญชีหนี้ (กรณีมีทรัพย์สิน)- เช่นบ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ ไม่เป็นการดีหากมีทรัพย์และมีหนี้สินไปพร้อมกัน เนื่องจากเจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีเพื่อยืดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้
ข้อดี คือ มีเงินเพื่อเจรจาปิดบัญชีหนี้ครั้งเดียวได้ทั้งหมด หากทรัพย์สินนั้นที่มีมูลค่ามากกว่าหนี้ ,หยุดการฟ้องคดี , ไม่ติดแบล็คลิสต์, ไม่เสียเครดิต
ข้อเสีย คือ การขายทรัพย์สินต้องใช้ระยะเวลาในการขายทรัพย์ควรทำตั้งแต่เริ่มมีหนี้สินมากกว่ารายได้

- สำหรับผู้มีเงินก้อนในมือ - การแฮร์คัท (HAIR CUT) คือ การลดยอดหนี้ที่ค้างชําระ เมื่อหนี้นั้นไม่ก่อให้เกิดรายได้(หนี้เน่า) ทําได้หลังจากการค้างชําระเป็น เวลานานๆ ซึ่งสถานะทางบัญชีก็จะมีการเปลี่ยนจาก “สถานะปกติ” เป็น “สถานะมีหนี้ค้างชำระ”

ขั้นตอนการแฮร์คัท

>> ตรวจสอบยอดหนี้ ณ วันที่หยุดจ่ายเทียบกับยอดหนี้ค้างชําระ ณ ปัจจุบัน เพื่อนํายอดหนี้ดังกล่าวไปเป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรอง
>> เจรจาต่อรองขอส่วนลด จากมูลหนี้ที่ค้างชําระ ณ ปัจจุบัน การเจรจาให้ยึดตามจํานวนเงินที่เรามีเท่านั้น
>> เมื่อตกลงยอดที่ต้องการได้แล้ว ควรให้สถาบันการเงินหรือสำนักงานกฎหมายออกใบยืนยันส่วนลดหนี้ ส่งมาให้เป็นหลักฐานก่อนชำระหนี้
>> เมื่อชำระหนี้แล้ว ต้องเก็บหลักฐานการชำระหนี้ทั้งหมด เช่น หนังสือยืนยันยอดปิดบัญชี , เอกสารแสดงการปิดบัญชี หากเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการปลดเครดิตบูโร ลูกหนี้สามารถนำหลักฐานนี้ไปแสดงกับบริษัทเครดิตบูโรเพื่อแจ้งปิดบัญชีหนี้ของตนเองได้

หากมีข้อสงสัยอื่นๆเกี่ยวกับหนี้ ติดต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผ้บริโภค 02-248-3737
ติดตามบทความหนี้ ๆ เพิ่มเติมได้ทาง http://www.consumerthai.org/menutd3.html

อ้างอิงข้อมูล http://www.indyconsumers.org/main/index.php/finance-and-banking-handbook/164-571028012

เขียนโดย นางสาวสุภารัตน์ สังข์สูตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พิมพ์ อีเมล