สวัสดีครับทุกท่าน
วันนี้เป็นเรื่องของคุณ สพโชค อินทร์รัศมี เกี่ยวกับเรื่อง การเช่าซื้อ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดแผกไปจากเช่าซื้อธรรมดาซึ่งคิดว่าหลายท่านคงไม่ทราบในข้อกฎหมายที่แน่ชัดทำให้มีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและทำให้เกิดความเสียหายตามมาในภายหลัง
คุณสพโชคเดินเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคด้วยใบหน้าที่เครียดพอสมควรและจึงเริ่มเล่าเรื่องที่ต้องมาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิดังต่อไปนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2549 คุณสพโชคได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์ที่บริษัท ซิตี้ ริชฃิ่ง จำกัด เป็นรถยนต์ยี่ห้อ Honda Civic ปี 92 ทะเบียน 7 ว 4214 ในราคา 130,000 บาท ระยะเวลาในการผ่อน 3 ปี โดยต้องส่งงวดละ 4800 บาทต่อเดือน ต่อมาได้ทำการขาดส่งจำนวน 4 งวดสุดท้าย เพราะตกงานทำให้ไม่มีรายได้มาจุนเจือเหมือนแต่ก่อน เมื่อหยุดจ่ายคุณสพโชคก็ได้พยายามติดต่อกับทางเจ้าหนี้เพื่อที่จะขอต่อรองราคาที่เหลือ แต่ทางริชซิ่งไม่ยอมให้ผ่อนโดยเสนอให้ปิดบัญชีเพียงอย่างเดียวโดยมียอดอยู่ที่ 33,000 บาท แต่ไม่สามารถที่จะทำตามเงื่อนไขได้เพราะไม่มีเงินเพียงพอ ต่อมาจึงได้ไปร้องที่ สคบ. เพื่อให้ช่วยเหลือแต่เนื่องจากการทำงานต้องเดินทางตลอดจึงไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน เอกสารที่ทาง สคบ. ส่งมาจึงไม่ได้รับการประสานงานจึงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ต่อมาทางบริษัท ซิตี้ ลิชซิ่ง จำกัด จึงได้ดำเนินการฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นคดี ผบ. หมายเลขคดีดำที่ 2931/2553
ในเวลาต่อมาศาลจึงได้มีคำพิพากษา ให้ทางคุณสพโชคมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ตามปกติที่ควรจะเป็น หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินเป็นจำนวน 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 11 มีนาคม 2553) และชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 4,700 บาท พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
เมื่อคุณสพโชคได้รับทราบคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอชดใช้เป็นจำนวนเงินแทนรถ โดยจะนำเงินทั้งหมดไปวางที่ศาล หลังจากให้พนักงานของศาลคิดคำนวณตัวเลขแล้วเป็นเงิน 28,310 บาท จึงนำเงินไปวางศาลในวันที่ 23 พ.ย. 2553 เมื่อวางเงินและแจ้งทางโจทก์ให้มารับแล้วก็คิดว่าเรื่องคงจบสิ้นลงแค่นี้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 ทางโจทก์ได้ทำการยึดรถที่จังหวัดพัทลุง โดยที่ภรรยาของคุณสพโชคเป็นคนขับรถและมีลูกชายซึ่งยังเล็กติดตามไปด้วยจึงไม่สามารถที่จะขัดขวางได้ ต้องให้ทางบริษัทริชซิ่งยึดรถไป หลังจากได้ทราบข่าวจึงได้ติดต่อกลับไปทางบริษัทดังกล่าวเพื่อชี้แจงว่า ได้นำเงินไปวางศาลแล้วทำไมถึงต้องมายึดรถอีก ซึ่งทางบริษัทตอบว่าไม่ต้องการเงินแต่ต้องการรถ และถ้าต้องการได้รถคืนก็ต้องนำเงินมาจ่ายในราคา 70,000 บาท รวมค่ายึดรถอีก 20,000 บาท จึงจะสามารถนำรถกลับคืนไปได้ ทางคุณสพโชคเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวที่เรียกมานั้นเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินไปและไม่เป็นธรรมสำหรับตัวคุณสพโชคเอง จึงได้มาร้องเรียนและขอคำปรึกษาดังกล่าว
คำแนะนำและแนวทางการแก้ไข ในกรณีนี้ควรย้อนกลับไปดูคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง การที่ศาลให้จำเลยมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและใช้งานได้เป็นปกติ หมายถึงว่าถ้าจำเลยมีรถอยู่ก็จะต้องส่งคืนรถเป็นอันดับแรกก่อน แต่ถ้ารถนั้นเกิดการสูญหายหรือเกิดไฟไหม้หมดทั้งคันจนไม่สามารถนำมาคืนได้ จำเลยถึงจะมีสิทธิเลือกในการชำระหนี้ด้วยเงิน แต่ในกรณีนี้จำเลยคิดว่าเลือกอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้น และเมื่อทางโจทก์ยึดรถไปแล้วการที่จะนำเงินไปใช้และนำรถกลับมาทางจำเลยจะเสียเปรียบมากเพราะรถใช้มานานแล้วการต่อรองก็ค่อนข้างยาก ทางที่ดีควรจะไปขอเงินที่วางศาลคืนแต่อาจจะไม่ได้เต็มเพราะจะต้องหักค่าขาดประโยชน์ตามที่ศาลสั่งอีก 4700 บาท และนำเงินที่ได้จากการวางศาลมารวมกับเงินที่เราจะจ่ายให้กับโจทก์ก็สามารถที่จะไปดาวน์รถคันใหม่ได้ ซึ่งน่าจะคุ้มกว่ากัน