กำลังการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งผลิตในประเทศไทย มีปริมาณรวม 251.5 ล้านบาร์เรล หรือหากเทียบเท่ากับน้ำมันดิบประเทศไทยสามารถผลิตโดยเฉลี่ยวันละ 687,243 บาร์เรล หรือ 103,086,450 ลิตร
ปิโตรเลียมจำนวนมหาศาลที่อยู่ใต้พื้นขวานทองแห่งนี้มาจากการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมภายใต้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
จากรายงานประจำปี2554 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานระบุว่า ใน สิ้นปี 2554 ประเทศไทยมีสัมปทานปิโตรเลียมจำนวน 63 สัมปทาน โดยให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 79 แปลงสำรวจพื้นที่รวม 225,893 ตร.กม. แบ่งเป็น
พื้นที่ในอ่าวไทย จำนวน 29 สัมปทาน 36 แปลงสำรวจ พื้นที่ 104,690 ตร.กม.
พื้นที่บนบก 33 สัมปทาน 40 แปลงสำรวจ พื้นที่ 76,681 ตร.กม.
พื้นที่ในทะเลอันดามัน 1 สัมปทาน 3 แปลงสำรวจ พื้นที่ 44,521 ตร.กม.
เมื่อแยกเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานจะพบว่าบริษัทที่มีพื้นที่ผลิต ปิโตรเลียมมากที่สุดคือบริษัทในเครือ “บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด” ซึ่งมีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8,701.83 ตร.กม. โดยเป็นพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในอ่าวไทย ประกอบด้วย สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2525/6 แปลงสำรวจ 12 13 สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2516/6 แปลงสำรวจที่ 13 สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2515/5 แปลงสำรวจที่ 10 สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2529/33 แปลงสำรวจที่ B12/27 สัมปทานปิโตรเลียมที่ 5/2534/41 แปลงสำรวจที่ B10/32
ขณะที่บริษัทเชฟรอน ออฟซอร์ (ประเทศไทย)จำกัด ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2534/36 แปลงสำรวจที่ B8/32 สัมปทานเลขที่ 4/2515/8 แปลงสำรวจที่ 9A สัมปทานเลขที่ 4/2546/61 แปลงสำรวจที่ G4/43 ส่วนบริษัทเชพรอน ปัตตานี จำกัด ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2549/69 แปลงสำรวจที่ G4/48
รองลงมาคือกลุ่มบริษัทในเครือบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ได้รับสัมปทานพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7680.625 ตร.กม. แบ่งเป็นสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทยจำนวน 6891.151 ตร.กม. และสัมปทานบนบกจำนวน 789.474 ตร.กม. โดยเป็นของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ตามสัมปทานเลขที่ 5/2515/9 แปลงสำรวจที่ 15 14A และ15A สัมปทานเลขที่ 3/2515/7 แปลงสำรวจที่ 16 17 และ16A
บริษัทปตท.สผ.สยาม จำกัด ตามสัมปทานเลขที่ 3/2528/28 แปลงสำรวจที่ B2/27 สัมปทานเลขที่ 1/2522/16 แปลงสำรวจที่ S1 และบริษัทปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามสัมปทานเลขที่ 12/2550/88 แปลงสัมปทานที่ G8/50 สัมปทานเลขที่ 2/2528/27 แปลงสัมปทานที่ PTTEP1 ,L53/43 และL54/43
ส่วนบริษัทที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 3 ได้แก่ บริษัทซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด ที่ได้รับพื้นที่สัมปทานในอ่าวไทยจำนวน 376.563 ตร.กม. ตามสัมปทานปิโตรเลียมที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจ B8/38
ขณะที่บริษัทที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมน้อยที่สุดคือ บริษัทซิโน-ยู.เอส.ปิโตรเลียม อิงค์ ได้รับสัมปทานจำนวน 11.244 ตร.กม. ตามเลขที่สัมปทานที่ 1/2526/23 แปลงสำรวจ NC
เมื่อนำบริษัทที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมมากที่สุดซึ่งก็คือ บริษัทในเครือบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งมีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8,701.83 ตร.กม. มาเทียบกับบริษัทที่ได้รับพื้นที่สัมปทานน้อยที่สุดอย่างบริษัทซิโน-ยู.เอส. ปิโตรเลียม อิงค์ ได้รับสัมปทานจำนวน 11.244 ตร.กม.จะพบว่ามีความแตกต่างกันมากถึง 774 เท่า
สอดรับกับรายงานการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานที่ระบุว่า ใน ปี 2554 ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมมีการลงทุนในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ไทยทั้งบนบกและในทะเลเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 144,878 ล้านบาท
แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานด้านต่างๆ ได้แก่ การสำรวจ 10,772 ล้านบาท (ร้อยละ 7ของวงเงินรวม) การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม 97,466 ล้านบาท (ร้อยละ 67) การผลิตและขายปิโตรเลียม 33,511 ล้านบาท (ร้อยละ 23) และการบริหารงาน 3,129 ล้านบาท (ร้อยละ 2)
ค่าใช้จ่ายในการลงทุนในปี 2554 ส่วนใหญ่ใช้ไปในการก่อสร้างและติดตั้งโครงสร้างภายในแหล่งผลิตรวมถึงการเจาะ หลุมเพื่อการผลิตปิโตรเลียมแหล่งปลาทอง เอราวัณ สตูล และไพลิน โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และคณะ และในแหล่งบงกชและอาทิตย์ โดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และคณะ
เมื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการ ปิโตรเลียม พบว่าในปี 2554 รัฐสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงเป็นเงิน 51,044 ล้านบาท จากมูลค่าปิโตรเลียมทั้งสิ้น 421,627 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 12.1 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังระบุด้วยว่านอกจากค่าภาคหลวงที่รัฐ ได้รับแล้ว ยังมีการจัดเก็บรายได้ในส่วนของเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ(SRB) และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมด้วย โดย SRB จากผลกำไรในปี 2554 ของผู้รับสัมปทาน 10 บริษัทใน 4 แปลงสำรวจ ที่มีผลกำไรเกิดขึ้นจากการผลิตปิโตรเลียมในรอบปีที่ผ่านมาเกินกว่าที่ควรจะ ได้รับตามปกติหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนหมดแล้ว จำนวน 3,986 ล้านบาท ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่กรมสรรพากรจัดเก็บในปีภาษี 2554 นั้นมีจำนวน 81,778 ล้านบาท
ดังนั้นในปีที่ผ่านมารัฐมีรายได้จากการให้สัมปทานปิโตรเลียม (ค่าภาคหลวง+SRB+ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม) เท่ากับ 136,808 ล้านบาทจากมูลค่าปิโตรเลียมจำนวน 421,627 ล้านบาท หรือรัฐมีรายได้คิดเป็น 32.4 เปอร์เซนต์จากมูลค่าปิโตรเลียมทั้งหมด
ส่วนเม็ดเงินที่เหลือกว่า 284,819 ล้านบาทเป็นของบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานน้ำมัน
ข้อมูลจาก ไทยพับลิก้า
4 พ.ย. 55